คอลัมนิสต์

สองขั้วภาคใหม่ ‘พิธา’ เหนือพลพรรค ‘ทักษิณ’ สงครามอุดมการณ์

สองขั้วภาคใหม่ ‘พิธา’ เหนือพลพรรค ‘ทักษิณ’ สงครามอุดมการณ์

24 ธ.ค. 2566

โพลไม่เปลี่ยน พิธา เหนือกว่าพลพรรคทักษิณ ก้าวไกล-เพื่อไทย หักเหลี่ยมเฉือนคม บริบทการเมืองไทย ยังหนีไม่พ้นศึก 2 ขั้ว เสรีนิยม-อนุรักษนิยม

นิด้าโพลส่งท้ายปีเก่า พิธา เหนือกว่าพลพรรคทักษิณ สะท้อนศึกอุดมการณ์ 2 ขั้ว ก้าวไกล-เพื่อไทย ชิงฐานเสียง ก่อนเปิดสงครามชิงเมืองสมัยหน้า


บริบทการเมืองไทย ยังหนีไม่พ้นศึก 2 ขั้ว เสรีนิยม-อนุรักษนิยม เพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่น และมีผู้เล่นบางคนย้ายฝั่งมาเป็นหัวหอกฝั่งจารีต


ผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพล ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ไม่แตกต่างไปจากผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566

บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย 


อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และอันดับ 4 ร้อยละ 5.75 แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย


สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 พรรคเพื่อไทย และอันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

 

 

พิธา และก้าวไกล ยังมีคะแนนนิยมนำโด่ง จากการสำรวจของนิด้าโพล

 


หากเอาผลคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ มากางดูก็จะพบว่า มี 2 พรรคการเมืองที่ได้เสียงเป็นตัวเลขสองหลักคือ พรรคก้าวไกล ได้ 14,438,851 เสียง และพรรคเพื่อไทย ได้ 10,962,522 เสียง


ขณะที่พรรคการเมืองที่ตัวแทนความคิดขั้วอนุรักษนิยม พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 4,766,408 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ ได้แค่ 925,349 เสียง


ดังนั้น นิด้าโพลว่าด้วยคะแนนนิยมทางการเมือง ช่วงปลายปี 2566 ก็ไม่ต่างไปจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา


ฉากทัศน์การเมืองใน พ.ศ.หน้า ก็ยังเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างขั้วเสรีนิยมกับขั้วอนุรักษนิยม เหมือนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

ขั้วอนุรักษนิยมใหม่
ในสมรภูมิเลือกตั้งนับแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554  ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย ทำการต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนขั้วอนุรักษนิยม 


การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ที่มี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำให้สมการการเมืองเปลี่ยน เมื่อทักษิณถูกมองว่า จะเป็นผู้นำอนุรักษนิยมใหม่ ที่จะมาต่อกรกับขั้วเสรีนิยมก้าวหน้า ที่มีพรรคก้าวไกล เป็นตัวแทน


นักวิชาการบางกลุ่มกลับมองว่า แท้จริงแล้ว ทักษิณเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ และมีแนวคิดเอียงไปทางฝั่งอนุรักษนิยม ซึ่งการประดิษฐ์วาทกรรมระบอบทักษิณ เป็นกลเกมของฝ่ายขวาที่ต้องการทำลายทักษิณและพรรคการเมืองของเขา


ช่วงหลังเลือกตั้งใหม่ๆ ทักษิณได้พูดในคลับเฮาส์ว่า “เราไม่ใช่ขวาจัดตกขอบ ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนไทย เราเคารพสถาบันฯ ชัดเจน ไม่มีบิดพลิ้ว”


เชื่อว่า ทักษิณคงประเมินแล้ว เพื่อไทยในสมัยหน้า ก็คงจะได้ สส.ไม่แตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านมา หรืออาจลดลงเสียด้วยซ้ำไป อันเนื่องจากดีลข้ามขั้ว


ฉะนั้น การเป็นพันธมิตรพรรคบ้านใหญ่ อย่างพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น จึงจะสานฝันปั้นลูกสาว-อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร เป็นนายกฯได้

 

มิตรในทางยุทธวิธี
พูดถึงเรื่องพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นจุดขายในฐานะแคนดิเดตนายกฯ แต่ผู้นำทางจิตวิญญาณก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 


ปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาธรได้ไปร่วมเวทีฟอรั่มของเดอะสแตนดาร์ด ในหัวข้อ Thailand's Political Power Game อ่านเกมอำนาจใหม่การเมืองไทย และมองเห็นว่า ก้าวไกลยังต้องเป็นมิตรกับเพื่อไทย


“ความเจ็บปวด เจ็บแค้นพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยมือพรรคก้าวไกลแล้วไปจับมือกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาล 24 ชั่วโมงก็หายแล้ว แต่เสียดายอนาคตของประเทศไทย..”


การเลือกตั้งครั้งหน้า จะไม่มีเงื่อนไข สว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯในรัฐสภา ฉะนั้น ก้าวไกลกับเพื่อไทย จะขัดแย้งแตกหักกันไม่ได้ ก้าวไกลต้องถือว่า เพื่อไทยเป็นมิตรในทางยุทธวิธี


ในทางยุทธศาสตร์ ค่ายสีส้มจะไม่พึ่งพาค่ายสีแดง ก็ต่อเมื่อกวาดที่นั่ง สส.ทั้งสองระบบมาได้ 250-300 ที่นั่ง เหมือนที่ทักษิณและไทยรักไทย เคยทำได้เมื่อปี 2548