คอลัมนิสต์

เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ‘อนุทิน’ บ้านใหญ่ถดถอย ‘พีระพันธุ์’ ฝ่ายขวาขาลง

เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ ‘อนุทิน’ บ้านใหญ่ถดถอย ‘พีระพันธุ์’ ฝ่ายขวาขาลง

26 ธ.ค. 2566

ย่างเข้า พ.ศ.ใหม่ อนุทิน บ้านใหญ่นับวันถดถอย บริบทการเมืองเปลี่ยนไป ขั้วฝ่ายขวาขาลง พีระพันธุ์ ไร้เงาลุงตู่ก็สู้ตามลำพัง

บริบทการเมืองเปลี่ยน อนุทิน บ้านใหญ่ขั้วอนุรักษนิยม นับวันถดถอย ไม่ต่างจาก พีระพันธุ์ ไร้เงาลุงตู่ ก็เหมือนสู้โดดเดี่ยว


แม้สูตรสำเร็จตอกเสาเข็มของภูมิใจไทยจะได้ผล แต่การเมืองเชิงนโยบายและอุดมการณ์ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย


เก็บตกจากนิด้าโพล เรื่องการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ปี 2566 ครั้งล่าสุด มีกรณีศึกษาสำหรับพรรคอนุรักษนิยมชัดเจน 
 

อย่างเช่นพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้าง ต่างถูกจัดให้อยู่ในขั้วอนุรักษนิยม หากลงลึกในตัว สส.เขตทั้ง 2 พรรค ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองบ้านใหญ่


จากนิด้าโพล ผลการสำรวจบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ เฉพาะอันดับที่ 5 ร้อยละ 2.40 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ และอันดับ 6 ร้อยละ 1.70 รอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย


ผลสำรวจพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือก อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 พรรคภูมิใจไทย 


ย้อนไปดูนิด้าโพลก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน พรรค รทสช.ได้ร้อยละ 14 แต่หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ วางมือก็เหลือร้อยละ 3


นิด้าโพลครั้งนี้ สะท้อนว่า ภาพรวมภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปไกลพอสมควร ขั้วการเมืองฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้า ได้รับคะแนนนิยมสูงขึ้น สวนทางกับขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมนับวันยิ่งตกต่ำ

บ้านใหญ่ยกสุดท้าย
ในรัฐบาลเศรษฐา พรรคภูมิใจไทย ได้ดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะมหาดไทยและศึกษาธิการ เป็นศูนย์กลางรัฐราชการ 


เมื่อ 20 ปีก่อน พรรคไหนได้คุมมหาดไทย หมายถึงความได้เปรียบทางการเมือง บ้านใหญ่ได้ประโยชน์ แต่ปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยน การเมืองเรื่องกระแส และกลไกใหม่ ทำให้บ้านใหญ่พ่ายแพ้แบบยกจังหวัดมากกว่า 10 จังหวัด ในพื้นที่ปริมณฑลกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก

 

 

อนุทิน มท.1 คุมรัฐราชการ แต่ประชาชนเปลี่ยน พรรคบ้านใหญ่ก็เหนื่อย

 


การคุมมหาดไทย ไม่ได้หมายถึงความสัมฤทธิ์ผลในสนามเลือกตั้ง เพราะความคิดของประชาชน ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในภาคชนบท


เลือกตั้งที่ผ่านมา ภูมิใจไทย ได้ สส.เขต 68 ที่นั่ง คะแนน สส.บัญชีราย 1,138,202 คะแนน ได้ สส.บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง


ที่น่าสนใจ สนามบุรีรัมย์ ภูมิใจไทย กวาด สส.เขต 10 ที่นั่ง แต่คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ก้าวไกล 267,776 คะแนน และอันดับ 2 ภูมิใจไทย 165,026 คะแนน    


ปรากฏการณ์แชมป์ สส.บัญชีรายชื่อ ตกเป็นของก้าวไกล ในสนามที่บ้านใหญ่เป็น สส.เขต มีจำนวนมากกว่า 30 จังหวัด


ในเวลานี้ จึงมีภาพของอนุทิน และอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ออกงานคู่กันบ่อยครั้ง ประหนึ่งว่า ทั้งคู่อยู่พรรคเดียวกัน


อนุทิน พยายามจะสร้างพันธมิตรเพื่อไทย-ภูมิใจไทย เพื่อความอยู่รอดของพรรคบ้านใหญ่ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

 

 

อนุรักษนิยมใหม่
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อธิบายว่าพรรคนี้ เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่ หรืออนุรักษ์นิยมก้าวหน้า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกทั้งเทคโนโลยี สังคมและสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน 


นี่คือการปั้นแบรนด์ใหม่ชื่อ พีระพันธุ์ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือทางการเมือง และได้รับการแต่งตั้งเป็นองคมนตรี


การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรค รทสช. ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 4,766,408 คะแนน ได้ สส. 13 ที่นั่ง ส่วน สส.เขต 23 ที่นั่ง 


ย้อนไปเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมคำขวัญเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ 8,441,274 คะแนน เปรียบเทียบกับปีนี้ ลุงตู่ไปอยู่พรรค รทสช. คะแนนนิยมลดลงเหลือ 4 ล้านเสียง


นักวิชาการหลายคนจึงวิเคราะห์ว่า กระแสเบื่อลุง เพราะลุงตู่อยู่ในอำนาจ 8 ปี ดูยาวนานเกินไปแล้ว ประกอบกับรัฐราชการกลายเป็นตัวปัญหาฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง


ด้วยเหตุนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมจำนวนไม่น้อย จึงหันเทคะแนนให้พรรคก้าวไกล แม้ดูจะเป็นทางเลือกที่เสี่ยง แต่ก็ยังมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลง