คอลัมนิสต์

โหนกระแส ‘พิธา’ จุดพลุแผน ‘สว.สีส้ม’ สกัดสภาสูงบ้านใหญ่

โหนกระแส ‘พิธา’ จุดพลุแผน ‘สว.สีส้ม’ สกัดสภาสูงบ้านใหญ่

02 ม.ค. 2567

แนวร่วมสีส้มโหน พิธา พลพรรคก้าวไกล กระแสดีไม่มีตก เปิดแผนระดมคนลุยสมัคร สว.ชุดใหม่ เชื่อปรากฏการณ์ สว.สีส้ม มาแน่กลางปี 2567

แรงข้ามปี พิธา พลพรรคก้าวไกล กระแสดีไม่มีตก ทำเอาขาเชียร์ฟันธง สว.สีส้ม มาแน่กลางปี 2567 ตามรอยชัยชนะศึกบอร์ดประกันสังคม 


หลังสิ้น สว.ร่างทรง คสช. ก็ถึงคิวเลือก สว.ชุดใหม่ ส่องลึกกฎกติกาดูซับซ้อน เลือกทางอ้อม-เลือกไขว้ ไม่ง่ายหากแนวร่วมก้าวไกล หวังจะยึดสภาสูง


เดือน ม.ค. 2567 จะเป็นเดือนที่พรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อาจต้องลุ้นเหนื่อย เพราะศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 2 คำร้องสำคัญ

คำร้องแรก เป็นกรณี พิธา ถือหุ้นไอทีวี โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 


คำร้องที่สอง กรณีที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทําของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยศาลนัดลงมติและฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 


จะว่าไปแล้ว ผลแห่งคดีหุ้นสื่อ หรือคดีล้มล้างการปกครอง ไม่ว่าจะลบหรือบวก พรรคก้าวไกลคงเตรียมการรองรับไว้หมดแล้ว


ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ผ่านประสบการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว คงไม่ยอมให้เกิดปรากฏการณ์งูเห่าซ้ำสอง กรณีที่ผลออกมาเป็นลบ


ต้นปีนี้ มีนักวิเคราะห์การเมืองบางคนออกมาพูดถึงประเด็น ‘สว.สีส้ม’ จนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับกองเชียร์ด้อมส้ม


อันเนื่องจากปลายปีที่แล้ว คณะก้าวหน้า ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง จึงมีแนวร่วมพรรคสีส้ม เริ่มพูดคุยกันถึงการส่งผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ลงสมัคร สว.ชุดใหม่ 


หากมีฝ่ายประชาธิปไตยลงสมัครกันเยอะๆ โอกาสที่จะได้รับเลือกเป็น สว.ก็มีสูง นี่แหละจึงเป็นที่มาของวลี ‘สว.สีส้ม’ 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังได้รับความนิยมจากการสำรวจความเห็นทางการเมืองของประชาชนทุกสำนักโพล

 

เลือกทางอ้อม
หลัง สว. 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะครบวาระวันที่ 11 พ.ค. 2567 ก็จะมี สว.ชุดใหม่ 200 คน มาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ตั้งแต่ระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ


อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้ออกแบบการเลือก สว. ด้วยวิธีการคัดเลือกกันเอง นับว่าแปลกและแหวกแนวที่สุดนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา 


เมื่อพลิกอ่าน พ.ร.ป.วุฒิสภา ในมาตรา 10 และมาตรา 11 กำหนดให้ผู้สมัคร สว. สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งมีจำนวน 18 กลุ่ม และกลุ่มพิเศษอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ รวมจำนวนทั้งหมด 20 กลุ่ม


ผู้สมัคร สว.ชุดใหม่ จะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และห้ามฝ่ายการเมืองเข้ามาหาเสียง


อย่างไรก็ตาม สว.ในฐานะสภาสูง ย่อมหนีไม่พ้นความเป็นคนของพรรคการเมือง ขณะนี้ นักการเมืองบ้านใหญ่ รวมถึงกลุ่ม สว.ชุดปัจจุบัน กำลังเตรียมการส่งคนเข้าชิงเก้าอี้ สว.แล้ว


หน้าที่ สว.ชุดใหม่ แม้จะไม่มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ เหมือน สว.ร่างทรง คสช. แต่ก็มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 

 

 

กระสุนหรือกระแส
การเลือก สว.ชุดใหม่ จะเกิดขึ้นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2567 ซึ่งโฉมหน้า 200 สว.ชุดที่มาจากการเลือกกันเอง ก็จะถูกสแกนว่า เป็นตัวแทนกลุ่มไหน หรือพรรคการเมืองใดบ้าง


เมื่อต้นปี 2566 กลุ่ม iLaw (ไอลอว์) แนวร่วมของพรรคก้าวไกล เคยวิเคราะห์ที่มาของ สว.ชุดใหม่ ด้วยวิธีการเลือกกันเองนั้น เปิดโอกาสให้มีการซื้อเสียงง่ายขึ้น ยิ่งกลุ่มอาชีพใดมีผู้สมัครน้อย การซื้อเสียงก็จะยิ่งทำได้ง่ายมากขึ้น


ล่าสุด ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร  iLaw เสนอว่า หากภาคประชาชนอยากเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง เช่น การแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ ต้องช่วยกันสมัครเข้าไปตามกลุ่มอาชีพ เพื่อคัดเลือกเป็น สว.ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการซื้อเสียง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง


ว่ากันว่า ฝ่ายประชาธิปไตยหรือแนวร่วมก้าวไกล กำลังวางแผนระดมคนลงสมัคร สว.ตามกลุ่มอาชีพ เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์ สว.สีส้ม