ลุยเชียงใหม่ ‘เศรษฐา’ จับตา ‘ชินวัตร’ ทวงคืนเมืองหลวงเพื่อไทย
เดิมพันเพื่อไทย เศรษฐา ลุยบ้านเกิดตระกูลชินวัตร ภารกิจทวงคืนเชียงใหม่ หลังก้าวไกลตีที่มั่นแตก จับตาสมรภูมินายก อบจ.
ยกทัพใหญ่ เศรษฐา ลุยบ้านเกิดตระกูลชินวัตร ภารกิจทวงคืนเมืองหลวงภาคเหนือเพื่อไทย หลังก้าวไกลทะลวงที่มั่นใหญ่แตก
จับตาศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร-วิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ ขุนศึกค่ายเจ๊แดง จะฝ่าพลังส้มรักษาแชมป์ได้หรือไม่
ช่วงวันที่ 10-12 ม.ค.2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยกทีมรัฐมนตรีหลายกระทรวง ปฏิบัติภารกิจตรวจราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายการตรวจราชการโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
มองในมิติบริหารราชการแผ่นดิน ก็คงเป็นเรื่องปกติ เพราะเชียงใหม่ เป็นจังหวัดใหญ่ เปรียบเสมือนเมืองหลวงของภาคเหนือ แต่คงปฏิเสธการเคลื่อนไหวในมิติทางการเมืองไม่ได้
เนื่องจากการเลือกตั้ง สส.ปีที่แล้ว ปรากฏว่า สนามเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยแพ้ยับเยิน ได้ สส.แค่ 2 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง
พรรคก้าวไกลกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของพรรคเพื่อไทยในสมรภูมิบ้านเกิดของตระกูล ‘ชินวัตร’
โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ และนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ จะเป็นการประลองกำลังอีกครั้ง ระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล
เมื่อ 31 ธ.ค. 2566 มีบางการเคลื่อนไหวที่น่าขีดเส้นใต้ เมื่อ เจ๊ปุ้ย-วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ พร้อมทีมงานกลุ่มเพื่อไทยเพื่อเชียงใหม่ได้เข้าสวัสดีปีใหม่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และพิชัย เลิศพงค์อดิศร นายก อบจ.เชียงใหม่
ช่วงหลังคนเชียงใหม่ได้เห็น เจ๊ปุ้ย-วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ทำกิจกรรมในนามกลุ่มเพื่อไทยเพื่อเชียงใหม่ถี่ขึ้น เหมือนส่งสัญญาณทางการเมืองอะไรบางอย่าง
ศึกท้องถิ่นล้านนา
การเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยประสบความล้มเหลว ได้ สส.เชียงใหม่ 2 ที่นั่งคือเขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฏิคำลือ ขณะที่พรรคก้าวไกล ได้ 7 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ 1 ที่นั่ง
ที่สำคัญ ผลคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ได้ 404,011 คะแนน และอันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ได้ 318,046 คะแนน
กางคะแนนเลือก สส.เชียงใหม่ ออกมาดูกันชัดๆ ย่อมส่งผลให้ทางพรรคเพื่อไทย ต้องเร่งขยับปรับเกมใหม่ มิฉะนั้น การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ในช่วงต้นปี 2568 เพื่อไทยอาจพ่ายก้าวไกลอีกครั้ง
สมัยที่แล้ว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ตัวแทนทักษิณและยิ่งลักษณ์ เปิดหน้าช่วยนายกฯก๊อง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร กว่าจะเอาชนะบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ หัวหน้ากลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม และอดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ ก็ต้องลุ้นกันจนถึงโค้งสุดท้าย
นายกฯก๊อง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร จะลงสนามป้องกันแชมป์นายก อบจ.เชียงใหม่ หรือว่า ค่ายเจ๊แดง จะเปลี่ยนตัวผู้เล่น คาดว่า ช่วงกลางปีนี้ก็พอจะรู้กันแล้ว
เมืองหลวงชินวัตร
มีข้อน่าสังเกต หลัง เจ๊ปุ้ย-วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ เข้าสวัสดีปีใหม่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ คืนวันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว
ย่างขึ้นวันปีใหม่ เจ๊ปุ้ย ได้เปลี่ยนโปรไฟล์รูปตัวเองในเฟซบุ๊ก และติดแฮชแท็ก #เพื่อไทยเพื่อเชียงใหม่ #ทุกวัยไปด้วยกัน #วิภาวัลย์วรพุฒิพงค์
เจ๊ปุ้ย เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่คลุกคลีอยู่ในเมืองเชียงใหม่มานานกว่า 20 ปี เคยเป็นรองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และเลขานุการนายก อบจ.เชียงใหม่
สมัยที่กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรมของตระกูลบูรณุปกรณ์ ยังอยู่ในเครือข่ายตระกูลชินวัตร เจ๊ปุ้ยก็เป็นมือทำงานของทั้ง 2 ตระกูลนี้
ปี 2562 พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เปิดตัวลงสมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้เชิญเจ๊ปุ้ย วิภาวัลย์ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มาเป็นหนึ่งในทีมงานฝ่ายบริหารด้วย
กระทั่งต้นปี 2564 นายกก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร จึงแต่งตั้งเจ๊ปุ้ย เป็นรองนายก อบจ.เชียงใหม่ และบทบาทของเจ๊ปุ้ยเริ่มโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ
ชั่วโมงนี้ นายกก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร และเจ๊ปุ้ย-วิภาวัลย์ คือกำลังหลักของตระกูลชินวัตร สำหรับการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่