คอลัมนิสต์

ไผเป็นไผ ’98 สว.’ ซักฟอก ‘เศรษฐา’ เช็กสัญญาณ 2 ลุง

ไผเป็นไผ ’98 สว.’ ซักฟอก ‘เศรษฐา’ เช็กสัญญาณ 2 ลุง

22 ม.ค. 2567

ดีเดย์ซักฟอก เศรษฐา เปิดเบื้องหลัง สว.ตัวตึง ดึงสายอิสระ-สายทหาร หนุน เช็กสัญญาณแกนนำกลุ่ม 2 ป. ไม่มีไฟเขียว เป็นเรื่องเฉพาะตัว

ซักฟอก เศรษฐา เปิดเบื้องหลัง สว.ตัวตึง ดึงสายอิสระ-สายทหาร หนุน เช็กสัญญาณแกนนำกลุ่ม 2 ป. ไม่มีไฟเขียว เป็นเรื่องเฉพาะตัว


เปิดโฉมหน้า 98 สว. ยื่นอภิปรายรัฐบาลเศรษฐา แยกเป็นตัวตึงหน้าเก่าเจ้าประจำ เพื่อนประยุทธ์ อดีตข้าราชการ และบ้านใหญ่


ในที่สุด กลุ่ม สว.ตัวตึง ก็ล่ารายชื่อเพื่อนสมาชิกสภาสูง ได้ครบ 98 คน เพื่อขอยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี 
 

หลังจากมีรายงานข่าวว่า อาจจะได้รายชื่อ สว.ไม่ครบ 84 คน เพื่อขอยื่นซักฟอกรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 153


นาทีสุดท้าย ก่อนจะยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภา ปรากฏว่า ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ได้มาขอถอนรายชื่อ แต่มี สมชาย เสียงหลาย มาลงรายชื่อเพิ่ม จึงได้ 98 สว.ตามเดิม


ดังนั้น วันที่ 22 ม.ค. 2567 เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะ ได้เข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ยื่นต่อ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา


การเคลื่อนไหวของ สว. ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการอภิปรายทิ้งทวน ก่อนครบวาระภายในเดือน พ.ค.2567
 

กลุ่ม สว.ตัวตึง
สำหรับรายชื่อ สว.ทั้ง 98 คน ที่ลงชื่อในญัตติขอซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา จำแนกได้ 3 กลุ่มคือ สว.ตัวตึง , สว.สายอิสระ และ สว.สายทหาร 


กลุ่มแรก สว.ตัวตึง ประกอบด้วย เสรี สุวรรณภานนท์, จเด็จ อินสว่าง, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, ถวิล เปลี่ยนสี, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, สมชาย แสวงการ ฯลฯ 


จะว่าไปแล้ว กลุ่มนี้ได้ลงมติไม่เห็นชอบ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คัดค้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และเรียกร้องให้มีการชี้แจงกรณีทักษิณ ชินวัตร นอนอยู่ใน รพ.ตำรวจ 


กลุ่มที่สอง สว.อิสระ ได้แก่ เฉลิมชัย เฟื่องคอน, คำนูญ สิทธิสมาน, สุรเดช จิรัฐิติเจริญ, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, อนุศักดิ์ คงมาลัย, สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย , มณเฑียร บุญตัน, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ฯลฯ

 

ในปีกนี้ เฉลิมชัย เฟื่องคอน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการร่างญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งตอนที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สว.เฉลิมชัย เป็นคนหนึ่งที่โหวตเห็นชอบเศรษฐา เป็นนายกฯ 


ภายหลัง รัฐบาลเศรษฐา เดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สว.เฉลิมชัย ได้ลุกขึ้นคัดค้านนโยบายซูเปอร์ประชานิยม และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ สว.สายอิสระ มาลงชื่อขอซักฟอกรัฐบาลเศรษฐา 

 

 

นายกฯเศรษฐา ลงพบปะชาวระนอง ในวันที่ สว.ยื่นซักฟอก

 

 

กลุ่ม สว.สีเขียว
กลุ่มที่สาม สว.สายทหาร ที่มีมากกว่า 20 คน อาจทำให้มีการวิเคราะห์ว่า มีสัญญาณทางการเมืองอะไรหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา สว.สายทหาร แยกได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มลุงตู่ และกลุ่มลุงป้อม


เท่าที่มีการตรวจสอบจากแหล่งข่าวใน สว. เปิดเผยว่า ศึกซักฟอกหนนี้ ไม่มีสัญญาณใดๆ มาจาก 2 ลุง 


สว.อดีตนายทหารคนหนึ่งพูดว่า “ทำไป คนได้ประโยชน์คือก้าวไกล” หรือบ้างก็ว่า “เมื่อเราหนุนเขาเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลก็ต้องหนุนเขาต่อไป”


สำหรับ สว.เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ และ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ลงชื่อขอซักฟอกรัฐบาลเศรษฐาด้วยนั้น น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว 


ส่วนอดีตนายทหารที่ไม่ได้อยู่ทั้งสายลุงตู่และลุงป้อม อย่าง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป, พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์  เวชยานนท์ ฯลฯ ก็มีเหตุผลส่วนตัวที่ต้องการอภิปรายในบางประเด็น


ขณะที่ สว.เพื่อน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่า มี สว.สายทหารหลายคน มีความคิดอยากจะถอนชื่อภายในสัปดาห์นี้


เหมือนกรณี ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สว.สายลุงป้อม ที่ถอนรายชื่อไปก่อนหน้านั้น


ต้องลุ้นกันว่า 98 สว.จะมีรายชื่ออยู่ครบไปจนถึงวันเปิดอภิปรายหรือไม่ เพราะกระแสล็อบบี้ถอนชื่อยังมาแรง