ไทม์ไลน์อันตราย ‘พิธา’ ติดบ่วง ‘ล้มล้าง’ ลุ้นระทึกเกมเชือดยกเล้า
กางไทม์ไลน์ 2 ดาบอันตราย พิธา พลพรรคก้าวไกล เผชิญวิบากล้มล้าง ส่อถูกเชือดยกเล้า ลุ้นระทึก ดาบแรกยุบพรรค ดาบสองเชือด 44 สส.
ถอนรากถอนโคน พิธา พลพรรคก้าวไกล เผชิญวิบากล้มล้าง กางไทม์ไลน์เชือดส้มยกเล้า ดาบแรกยุบพรรค ดาบสองเชือด 44 สส.
นักร้องอาชีพเดินหน้าไล่เช็กบิล พิธา-ก้าวไกล เป้าสังหารตุลาการภิวัฒน์ ฉากทัศน์การเมืองไทยใน พ.ศ.หน้า สุ่มเสี่ยงอนาธิปไตย
เป็นไปตามคาด หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีล้มล้างการปกครอง บรรดานักร้องเรียนก็หยิบฉวยผลแห่งคดีดังกล่าวไปเช็กบิลพรรคก้าวไกล
วันที่ 1 ก.พ. 2567 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นเรื่องให้ กกต. ยุบพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567
วันที่ 2 ก.พ. 2567 สนธิญา สวัสดี และธีรยุทธ สุวรรณเกสร ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112
นี่คือสารตั้งต้น ที่จะนำไปกระบวนการดำเนินคดียุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิการเมือง สส. 44 คน ซึ่งผลแห่งคดีนั้น อาจไม่เป็นไปตามที่นักร้องเรียนคาดหวังไว้ก็เป็นได้
ยุบแล้วยุบอีก
จากนี้ไป ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ต้องเตรียมการสู้คดียุบพรรค โดยมุมมองของนักกฎหมาย ก็มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ เมื่อศาลสั่งให้หยุด ก้าวไกลก็หยุดแล้ว จึงไม่น่าจะถูกยุบพรรค
อีกแนวทางหนึ่ง เมื่อศาลตั้งธงล้มล้างการปกครองฯ ก็ยากที่จะพลิกคดีไปทางอื่น สุดท้ายปลายทางคือยุบพรรคก้าวไกล
สำหรับขั้นตอนการไต่สวนประเด็นยุบพรรค กกต.ก็ยึดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) ที่เป็นตัวบทกฎหมายหลัก
เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครอง ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
หลายคนยกตัวอย่างการยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กรณีล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน ใช้ระยะเวลา 6 วันเท่านั้น ก็ชงเรื่องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
กรณีพรรคก้าวไกลนั้น กกต.เริ่มไต่สวนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพรรคล้มล้างการปกครอง ดังนั้น ระยะเวลาการต่อสู้คดีในชั้น กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ กว่าจะถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัย คงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
เชือด 44 สส.
สำหรับ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน สมัยที่แล้ว ซึ่งได้ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข มาตรา 112 เมื่อ 25 มี.ค.2564 ที่ถูกร้องว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง
ปรากฏว่า มี สส.ระดับแกนนำนับสิบคน อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม ฯลฯ
ในจำนวน สส. 44 คน ส่วนใหญ่เป็น สส.บัญชีรายชื่อ มี สส.เขต 12 คน แต่ยังเป็น สส.ปัจจุบัน 9 คน ประกอบด้วย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.,ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม.,เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม., ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี,จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา ,วุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ, จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรีศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด และปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก
เรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรง ป.ป.ช.จะทำการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้น ก่อนนำเสนอที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลให้ยกคำร้อง ถ้ามีมูลจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง
หลังจากไต่สวนโดยละเอียด ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะพิจารณาว่า มีมูลถึงขั้นชี้มูลความผิดหรือไม่ หากชี้มูลความผิด จะส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อร้องขอให้ศาลตัดสิทธิทางการเมืองต่อไป
กรณีตัวอย่างที่ ป.ป.ช.ชี้มูลผิดจริยธรรม เทียบเคียงกับกรณีพรรคก้าวไกลคือ ช่อ พรรณิการ์ วานิช อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีโพสต์ภาพและข้อความจำนวนมากในเฟซบุ๊ก เชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร
ศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่า พรรณิการ์ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามกฎหมาย ให้ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ผลแห่งคดีของช่อ พรรณิการ์ ข้างต้น จึงมีการคาดการณ์กันว่า 44 สส.ของพรรคสีส้ม ก็ไม่น่ารอดคมดาบตุลาการภิวัฒน์