คอลัมนิสต์

ปริศนาไฟไหม้ ‘ไชยา’ สายมูบ้านใหญ่ ‘หนองบัว’ เผชิญของร้อน

ปริศนาไฟไหม้ ‘ไชยา’ สายมูบ้านใหญ่ ‘หนองบัว’ เผชิญของร้อน

05 ก.พ. 2567

ไฟไหม้สะเทือนบ้านใหญ่ ไชยา จอมเก๋าจากหนองบัว เผชิญของร้อน ทั้งปราบหมูเถื่อน ซื้อเครื่องบินฝนหลวง แก้ปมโคบาลชายแดนใต้

ปริศนาไฟไหม้ ไชยา บ้านใหญ่หนองบัวสายมู เผชิญของร้อน ทั้งปราบหมูเถื่อน ซื้อเครื่องบินฝนหลวง แก้ปมโคบาลชายแดนใต้


รอมานาน ไชยา กว่าจะได้เป็นเสนาบดี อาศัยความเก๋า ปรับจูนเข้ากับเจ้ากระทรวง สร้างผลงาน แต่โชคร้ายเกิดกรณีก๊วน ศ.ศาลา-จ.จาน


อุณหภูมิการเมืองร้อนลุกขึ้นมาทันที เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 โดยมีต้นเพลิงเกิดที่โซนปีกซ้ายของอาคาร ฝั่งห้อง ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นห้องครัว ก่อนจะลุกลามไปยังห้องคณะที่ปรึกษา รมช.ไชยา
 

ภายในห้องคณะที่ปรึกษาฯ มีโต๊ะทำงาน และเอกสารต่างๆ คาดว่าสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร


อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะช่วงนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งเรื่องหมูเถื่อน, การจัดซื้อเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ และปมร้อนในกรมการข้าว


ไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรณีศรีสุวรรณ จรรยา และยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ทั้งคู่ไม่เคยมาพบ และตัวเขาเองก็ไม่ได้คุมกรมการข้าว 


ส่วนเรื่องการร้องเรียนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรณีการจัดซื้อเครื่องบิน 2 ลำ วงเงินงบประมาณ 1,188 ล้านบาท อาจเข้าข่ายทุจริต ทั้งสองคนนั้นก็ยื่นหนังสือผ่านที่ปรึกษาทางกฎหมายของ รมว.เกษตรฯ


นอกจากนี้ ปมชาวบ้านร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการโคบาลชายแดนใต้ที่ จ.ปัตตานี ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ไชยาพยายามปรับแผนใหม่ เดินหน้าทำโครงการนี้ต่อไป  


จับน้ำเสียงให้สัมภาษณ์สื่อทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และไชยา ก็เหมือนจะบอกว่า เหตุไฟไหม้นั้น ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นเรื่องอุบัติเหตุ

เบื้องหลังรัฐมนตรี
หลังการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ก็มีข่าวเกาเหลาที่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ออกมาโวยเรื่องการแบ่งงาน


ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เคลียร์ใจกับรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คนคือ ไชยา พรหมา และอนุชา นาคาศัย 


สำหรับไชยา ได้กำกับดูแลใน 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมปศุสัตว์, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, กรมหม่อนไหม และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย


นับแต่เคลียร์ใจจบลง รมช.ไชยา ก็เดินหน้าสร้างผลงาน และมีข่าวเชิงบวกผ่านสื่อออกมาเป็นระยะๆ


เรื่องนี้ต้องให้เครดิต ตั๊ก-อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษก รมช.เกษตรฯ ซึ่งเธอมีประสบการณ์อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมานานกว่า 14 ปี และยังเคยเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี และเลขาฯคณะกรรมาธิการในสภาฯ


ในทางการเมือง ตั๊ก-อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ ทำงานร่วมกับจ่ายุทธ-ยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ อดีตผู้สมัคร สส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ซึ่งวันนี้ จ่ายุทธ เป็นที่ปรึกษาพิเศษนายก อบจ.ปทุมธานี 


ไชยา ยังแต่งตั้งจ่ายุทธ เป็นที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ ทำงานร่วมกันกับตั๊ก-อัยรินทร์ 


ช่วงต้นเดือน ม.ค.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ลงนามแต่งตั้ง อัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ เป็นโฆษกกระทรวงเกษตรฯ และถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี


แหล่งข่าวในเพื่อไทยเปิดเผยว่า กรณี ร.อ.ธรรมนัส แต่งตั้งตั๊ก-อัยรินทร์เป็นโฆษกกระทรวงเกษตรฯ สะท้อนความสัมพันธ์อันดี ระหว่างผู้กองธรรมนัสกับไชยา 

 

 

โฆษกอัยรินทร์ ที่กระจายข่าวให้ รมช.ไชยา จนเข้าตา ร.อ.ธรรมนัส ตั้งเป็นโฆษกกระทรวง

 

 

สายบ้านแจ้งวัฒนะ
ปลายปีที่แล้ว นักวิเคราะห์การเมืองหลายสำนัก รู้สึกแปลกใจที่ไชยา พรหมา ลุกขึ้นมาโวยเรื่องการแบ่งงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยไม่เกรงใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 


อย่างที่ทราบกัน ไชยา พรหมา เป็น สส. 8 สมัย แยกเป็น สส.อุดรธานี 3 สมัย และ สส.หนองบัวลำภู 5 สมัย จึงถือว่า เป็นจอมเก๋าคนหนึ่งของสภาไทย


ไชยา ไม่ใช่คนหนองบัวลำภูโดยกำเนิด เขาเกิดที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น หลังเรียนจบรามคำแหง ได้แต่งงานกับอัญชลี ทายาทร้านศรีบุญเรืองวัฒนา ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเขียนแบบเรียน และสังฆภัณฑ์ร้านเดียวใน อ.ศรีบุญเรือง


ผู้แทนอีสานรุ่นเดียวกับไชยา เป็นรัฐมนตรีมาหลายคนแล้ว ฉะนั้น หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ไชยาจึงประกาศว่า เที่ยวนี้เขาต้องได้เป็นรัฐมนตรี 


ว่ากันว่า ไชยา มีความสนิทชิดเชื้อกับสมชาย-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จึงน่าจะเป็นแรงส่งให้ได้เก้าอี้รัฐมนตรี และเป็นลมใต้ปีกให้พ่อใหญ่ไชยาแห่งหนองบัวลำภู ได้ผงาดในเวลานี้