ไฟเขียว ‘เศรษฐา’ ลุยดิจิทัลวอลเล็ต ‘ป.ป.ช.’ ลดโทนข้อเสนอแนะ
บอร์ด ป.ป.ช.ปรับปรุงข้อเสนอแนะ เศรษฐา ลุยดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ฟันธงวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ คล้ายเปิดไฟเขียวแจกเงิน
เดินหน้า เศรษฐา แจกดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช. ลดโทนเสนอแนะรัฐบาล คล้ายเปิดไฟเขียวแจกเงินหมื่น ไม่ฟันธงกู้ 5 แสนล้าน
บอร์ด ป.ป.ช.เห็นชอบปรับปรุงเนื้อหา ร่างข้อเสนอแนะฉบับสุภา ปิยะจิตติ ไม่ฟันธงเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่การหาเสียง
วันที่ 6 ก.พ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะเป็นประธานจะประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ภายในต้นสัปดาห์หน้า
ส่วนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ส่งมาถึงรัฐบาล ก็จะนำข้อคิดเห็นเข้าสู่ที่ประชุมและตอบข้อสงสัยต่อไป
มีรายงานข่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้นำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นชอบส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว
ย้อนไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบ หลักการร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จัดทำโดยคณะ กรรมการเพื่อศึกษาฯ ชุดมี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน
เวลาผ่านเลยมาถึงต้นเดือน ก.พ.นี้ บอร์ด ป.ป.ช.ชุดใหญ่ จะมีมติปรับแก้เนื้อหาข้อเสนอแนะฉบับเดิม 9 ประเด็น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
มีรายงานข่าวบางกระแสพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองคนหนึ่ง ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อองค์กรอิสระ ได้ทำหน้าที่ประสานงานและเคลียร์ใจจนได้ข้อเสนอแนะฉบับปรับปรุงใหม่
ป.ป.ช.ถอย
สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฉบับปรับปรุงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567
สำหรับข้อเสนอแนะฉบับปรับปรุงใหม่ของ ป.ป.ช. มีเนื้อหาที่น่าใจ 3 ประเด็น
1.การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันทุจริตฯ ฉบับนี้ ไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายนโยบายของรัฐบาล แต่เป็นการให้คำแนะนำตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
2.ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีฟันธงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการศึกษาปัญหาเศรษฐกิจระดับจุลภาคมาประกอบ
3.ตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการหาเสียงที่อาจเข้าลักษณะเป็นสัญญาว่าจะให้ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 เพราะมีอัยการเพียงรายเดียวที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดที่มี สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ก็พบว่า บอร์ด ป.ป.ช.ได้ปรับแก้เนื้อสำคัญไปหลายประเด็น
ด้วยเหตุนี้ จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า ป.ป.ช.ได้ลดโทนข้อเสนอแนะ มีการตีความว่า คล้ายเปิดไฟเขียวให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเดินหน้าต่อไปได้
แจกแน่แต่รอหน่อย
พลันที่มีข่าว ป.ป.ช.ส่งสัญญาณบวก จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้หารือกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหลายประเด็น
เรื่องแรก ตั้งแต่ระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และภาวะในขณะนี้ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย ภาคการลงทุนโดยเฉพาะเอกชนไม่กล้าลงทุน
สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ เปรียบเหมือนปลาในบ่อ ประชาชนคือปลา เพราะน้ำในบ่อน้อย ประชาชนก็ดิ้นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ
สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำลงในบ่อให้เพียงพอกับจำนวนปลาและขนาดของบ่อ ซึ่งต้องการเม็ดเงินใหม่ นั่นคือการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
เรื่องที่สอง มีการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อเสนอเบื้องต้น ยังเป็นการใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์ เนื่องจากเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ
สัปดาห์หน้า จะมีการประชุมบอร์ดชุดใหญ่ และต้องเคาะแผนการดำ เนินการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี โดยหวังว่าภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะต้องเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์การแจกดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ได้ขยับออกไปแล้วจากเดือน พ.ค.2567 แต่รัฐบาลเศรษฐาตั้งเป้าแจกเงินหมื่นแน่นอน