คอลัมนิสต์

ผ่าเพื่อไทยอุบล ‘อุ๊งอิ๊ง’ ขยับรุก ‘อบจ.’ จับตาเกมฮั้วส้ม-บ้านใหญ่

ผ่าเพื่อไทยอุบล ‘อุ๊งอิ๊ง’ ขยับรุก ‘อบจ.’ จับตาเกมฮั้วส้ม-บ้านใหญ่

07 มี.ค. 2567

ตรวจแนวรบท้องถิ่น อุ๊งอิ๊ง ขยับรุก อบจ. จัดทัพบ้านใหญ่ ไม่ให้แข่งกันเอง จับตาสนามอุบลฯ บ้านใหญ่หลังใหม่ฮั้วค่ายส้ม ล้มเพื่อไทย

ช้ากว่าส้ม อุ๊งอิ๊ง ขยับแนวรบ อบจ. จัดแถวบ้านใหญ่ ไม่ให้แข่งกันเอง บทเรียนสมัยที่แล้ว ท้องถิ่นเพื่อไทย พ่ายหลายสนามในอีสาน


จับตาสนามเมืองดอกบัวสมัยหน้า เกรียง เจอศึกหนักอุ้มน้องชาย กานต์ นายก อบจ.อุบลฯ ฝ่าด่านบ้านใหญ่พรรคร่วมรัฐบาล   


ในที่สุด พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ก็เริ่มพูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งแรก หลังพรรคก้าวไกลขยับนำ หน้าไปหลายก้าวแล้ว

ปัจจุบัน มีนายก อบจ.หลายสิบจังหวัด ในภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่สวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ หรือตระกูลการเมือง


อย่างเช่น จ.อุบลราชธานี กานต์ กัลป์ตินันท์ นายก อบจ.อุบลฯ เป็นน้องชาย เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ซึ่งสมัยหน้า กานต์อาจต้องเจอศึกใหญ่ เพราะมีกลุ่มบ้านใหญ่ที่เป็นขั้วตรงข้ามเพื่อไทย กำลังซุ่มจัดทัพท้าชิงเก้าอี้

 

 

นายกฯกานต์ น้องชาย เกรียง รมช.มหาดไทย

 


การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่แล้ว ตระกูลกัลป์ตินันท์ บ้านใหญ่เมืองอุบลฯ ได้รับชัยชนะทั้งจากสนาม อบจ.อุบลฯ และเทศบาลนครอุบลฯ


น้องชาย-กานต์ กัลป์ตินันท์ เป็นนายก อบจ.อุบลฯ และลูกสะใภ้-พิศทยา ไชยสงคราม เป็นนายกเทศบาลนครอุบลฯ 


ขณะที่การเลือกตั้ง สส.อุบลฯ ปี 2566 ค่ายเพื่อไทย โดยการนำของเกรียง กัลป์ตินันท์ ได้เก้าอี้ สส.ต่ำกว่าเป้าหมายคือ ได้แค่ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 11 ที่นั่ง


ที่เหลือตกเป็นของค่ายภูมิใจไทย 3 ที่นั่ง ค่ายเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง ส่วนค่ายประชาธิปัตย์ และค่ายไทยสร้างไทย ได้พรรคละ 1 ที่นั่ง   


ว่ากันตามจริง เสี่ยเกรียง ได้เป็น รมช.มหาดไทย ก็เพราะความสนิทสนมกับเจ๊แดง เยาวภา และนายใหญ่ หากยึดตามสูตรคณิตศาสตร์การเมือง เสี่ยเกรียงไม่ได้เก้าอี้เลย 

บ้านใหญ่มนต์เสื่อม
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อไทยไม่เคยชนะยกจังหวัดที่สนามอุบลฯ แต่ก็กวาดเก้าอี้ไปส่วนใหญ่ เหลือให้พรรคคู่แข่งแค่ 2-3 ที่นั่ง 


ตรงกันข้ามกับครั้งนี้ ที่ได้เพียง 4 ที่นั่งคือ วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์, กิตติ์ธัญญา วาจาดี, ธัญธารีย์ สันตพันธุ์  และสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ


มิหนำซ้ำ นักการเมืองอาวุโสอย่างชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ และสมคิด เชื้อคง กลับสอบตกแบบไม่ได้ลุ้น


อย่างไรก็ตาม ผลคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 เพื่อไทย 411,2398 คะแนน และอันดับ 2 ก้าวไกล 320,831 คะแนน


สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ ที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะนิยมเลือกตัวบุคคลเป็นหลัก พรรคเป็นรอง 


อย่างเช่นปี 2551 กานต์ กัลป์ตินันท์ สวมเสื้อพรรคพลังประชาชน ยังพ่าย พรชัย โควสุรัตน์ ตัวแทนบ้านใหญ่ ส.เขมราฐ หรือเมื่อปี 2563 เสี่ยกานต์พลิกชนะ เพราะคู่แข่งตัดคะแนนกันเอง 

 

 

บ้านใหญ่หน้าใหม่
ถ้าจัดแถว สส.อุบลฯ 11 คน ออกเป็น 2 กลุ่มก็จะแบ่งเป็นกลุ่มเพื่อไทย หรือกลุ่มเสี่ยเกรียง และกลุ่มตรงข้ามเพื่อไทย


เมื่อตรวจขุมกำลังขั้วตรงข้ามเพื่อไทย ประกอบด้วย สส.อุบลฯ เพื่อไทรวมพลัง 2 คน, ภูมิใจไทย 3 คน และไทยสร้างไทย 1 คน


แกนหลักของขั้วนี้คือ สมศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต ส.ว.นครราชสีมา และจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล อดีต สส.นครราชสีมา ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทรวมพลัง 


พูดง่ายๆ กลุ่มแป้งมันเอี่ยมเฮงสายอุบลฯ ได้กลายเป็นบ้านใหญ่หลังใหม่ ที่คอยดูแล สส.ต่างพรรค-พวกเดียวกัน 


ดังนั้น สส.อุบลฯ พรรคภูมิใจไทย 3 คนคือ สุทธิชัย  จรูญเนตร, แนน บุญย์ธิดา สมชัย และตวงทิพย์  จินตะเวช จึงใกล้ชิดกับสมศักดิ์-จิตรวรรณ


รวมถึง รำพูล ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลฯ พรรคไทยสร้างไทย ก็อยู่ในเครือข่ายนี้ ยกเว้นวุฒิพงศ์ นามบุตร พรรค ปชป.ที่มีความสนิทสนมกับเกรียง กัลป์ตินันท์ มายาวนาน


ฉากทัศน์การต่อสู้ในสนาม อบจ.อุบลฯ ต้นปี 2568 ก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่างขั้วเพื่อไทย กับขั้วไม่เอาเพื่อไทย 


จับตาเกมฮั้ว เมื่อขั้วไม่เอาเพื่อไทย อาจจับมือกับค่ายส้ม ส่งคนลงสนามแข่งเสี่ยกานต์ หากเป็นไปตามสูตรนี้ น้องชายเสี่ยเกรียงในสีเสื้อเพื่อไทย พ่ายบ้านใหญ่หลังใหม่แน่นอน