คอลัมนิสต์

แพ้อีกแล้ว ‘ธนาธร’ พ่ายซ้ำสนาม อบต. ‘ปากน้ำ’ กระแสพ่ายอุปถัมภ์

แพ้อีกแล้ว ‘ธนาธร’ พ่ายซ้ำสนาม อบต. ‘ปากน้ำ’ กระแสพ่ายอุปถัมภ์

19 มี.ค. 2567

บ้านใหญ่ยังแกร่ง ธนาธร พ่ายศึก อบต.ที่ปากน้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาพสะท้อนการเมืองท้องถิ่น ไม่อินกระแสสีส้ม ผู้คนยึดติดระบบอุปถัมภ์

บทเรียนท้องถิ่น ธนาธร พ่ายศึก อบต.ที่ปากน้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาพสะท้อนการเมืองท้องถิ่น ยึดติดตัวบุคคล ไม่อินกระแสสีส้ม  


4 ปีที่แล้ว ธนาธร พ่ายศึก 3 อบต.เขต อ.บางพลี รอบอาณาจักรไทยซัมมิทฯ ปีนี้ ค่ายสีส้มยังแพ้ที่สนามที่ อบต.บางปลา พื้นที่ สส.ก้าวไกล 


การเมืองท้องถิ่นเริ่มได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น เมื่อสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง 

อีกด้านหนึ่งในพื้นที่ปริมณฑลกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค. 2567มีการเลือกตั้งนายก อบต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ผลปรากฏว่า คณะก้าวหน้าแพ้คู่แข่งขาดลอย


ข่าวนี้มีสื่อให้ความสนใจน้อยมากเพราะเป็นสมรภูมิ อบต. แต่คนแถวถิ่นบางปลา จะรู้ดีว่า สนามนี้มีเดิมพัน โดยเฉพาะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำทางจิตวิญญาณพรรคก้าวไกล 


สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุด ปปป.ได้มีการล่อซื้อจับ ชรินทร์ รื่นเริง อดีตนายก อบต.บางปลา พร้อมเงินของกลางคาห้องทำงานและได้มีคำสั่งปลดในเวลาต่อมา


ดังนั้น กกต.จึงจัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบต.บางปลา แทนตำแหน่งที่ว่าง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า วีระ สีสาม อดีตรองนายก อบต.บางปลา ได้ 7,845 คะแนน และได้รับเลือกเป็นนายก อบต.คนใหม่ 


ส่วน เทวินทร์ รื่นเริง ลูกชาย ชรินทร์ รื่นเริง อดีตนายก อบต.บางปลา ได้ 4,785 คะแนน และโยธิน แก้วนุ่ม คณะก้าวหน้า ได้ 3,008 คะแนน  


สำหรับโยธิน แก้วนุ่ม เป็นทีมงานหาเสียงของ นิตยา มีศรี สส.สมุทร ปราการ เขต 5 พรรคก้าวไกล (เขต อ.บางพลี) 


ระหว่างการหาเสียง ทีมงานของโยธินได้ติดป้ายไวนิล มีภาพของธนาธรคู่กับตัวผู้สมัคร และโค้งสุดท้าย ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ได้ลงพื้นที่หาเสียงช่วยโยธินด้วย


ย้อนไปปลายปี 2564 ธนาธรและคณะก้าวหน้า ก็ปราชัยในสนามนายก อบต.บางปลา เช่นเดียวกับสนามนายก อบต.ในพื้นที่ อ.บางพลี อีก 2 แห่ง
 

แพ้รวด 3 อบต.
ต้นเดือน พ.ย.2564 คณะก้าวหน้า โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เปิดตัวผู้สมัครนายก อบต.พื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 3 แห่งคือ อบต.ราชาเทวะ, อบต.บางปลา และ อบต.บางพลีใหญ่


วันนั้น ธนาธรให้เหตุผลที่ผู้สมัครนายก อบต. 3 แห่งดังกล่าวนั้น เพราะเป็น อบต.ขนาดใหญ่ มีงบประมาณเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ


มีข้อน่าสังเกต อบต.ทั้ง 3 แห่งนั้น อยู่ไม่ไกลจากบริษัท ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 


แถมปี 2562 วุฒินันท์ บุญชู พรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกเป็น สส.สมุทรปราการ เขต 4 (อ.บางพลี) จึงทำให้ธนาธร มีความมั่นใจว่าจะต้องได้รับชัยชนะทั้ง 3 อบต.


อบต.ราชาเทวะ คณะก้าวหน้า ส่ง ชุติกาญจน์ ศรทอง เจอสายแข็ง ทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ


อบต.บางพลีใหญ่ คณะก้าวหน้า ส่ง คณินทร์ อธิศักดิ์ชานนท์ ท้าชิงแชมป์จาก วีร์สุดา รุ่งเรือง กลุ่มบางพลีรุ่งเรือง 


อบต.บางปลา คณะก้าวหน้า ส่ง ภัทรพล บุญมงคลกิจ แข่งกับ ชนินทร์ รื่นเริง อดีตนายก อบต.บางปลาหลายสมัย

 

ผลเลือกตั้งนายก อบต.ทั้ง 3 แห่ง คณะก้าวหน้า พ่ายแพ้หมด โดยผู้ชนะคือ นายก อบต.เก่าทั้งสิ้น สะท้อนว่า ตัวบุคคลและระบบอุปถัมภ์ยังแข็งแกร่ง

 

ผู้สมัครคณะก้าวหน้า ชูภาพ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ไม่ประสบชัยชนะ

 

บทเรียนท้องถิ่นสีส้ม
ก่อนการเลือกตั้งนายก อบต.ปี 2564 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า คงประเมินว่า พื้นที่ อ.บางพลี มีความเปลี่ยนแปลงสูง จากสังคมเกษตรกรรม ก้าวสู่สังคมอุตสาหกรรม


เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง 


ขณะเดียวกัน ก็มีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ รวมถึงชุมชนดั้งเดิมที่มีอาชีพเกษตรกรรมทำบ่อกุ้งและบ่อปลา


ธนาธร จึงเลือกตั้งพื้นที่ 3 อบต. เป็นโมเดลท้องถิ่นก้าวหน้า แต่เขาก็ตีฝ่าระบบอุปถัมภ์ และด่านวงศาคณาญาติไปไม่ได้ 


สมัยที่ธนาธร ประกาศลุยการเมืองท้องถิ่น ก็ชักธงรบกับระบอบบ้านใหญ่ แต่ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. คณะก้าวหน้าประสบความพ่ายแพ้ทุกสนาม 


ส่วนการเลือกตั้ง อบต. คณะก้าวหน้า ได้รับเลือกบางพื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ภาคกลาง และปริมณฑลกรุงเทพฯ ค่ายสีส้มแพ้หมด


นี่คือบทเรียนของคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ที่เตรียมลุยสนามท้องถิ่นรอบใหม่ จะปราชัยซ้ำรอยเดิมหรือไม่