โชว์การนำ ‘เศรษฐา’ ฝ่าศึกสีกากี ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ฉบับจันทร์ส่องหล้า
ฟ้าผ่า สตช. เศรษฐา โชว์ภาวะผู้นำเด้งบิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก หลายนึกถึงอดีตนายตำรวจชื่อ ทักษิณ ผู้จุดประกายปฏิรูปตำรวจและชนวนรัฐตำรวจ
ศึกสีกากีไม่จบ เศรษฐา โชว์ภาวะผู้นำเด้งบิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก หลายคนนึกถึงอดีตนายตำรวจชื่อ ทักษิณ ผู้จุดประกายปฏิรูปตำรวจและชนวนรัฐตำรวจ
ย้อนรอยทักษิณ ปฏิรูปตำรวจสำเร็จยกแรก สถานการณ์สงครามปราบยาเสพติด และไฟใต้ลุกโชน ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรัฐตำรวจ
ปมขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการกล่าวหากันไปมา กรณีเส้นทางการเงินไปเชื่อมโยงกับแก๊งพนันออนไลน์ รวมทั้งมีการกล่าวอ้างว่า มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหา เพื่อให้มีผลต่อการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จึงทำให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีคําสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผบ.ตร. และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.เข้ามาช่วยงานที่สํานักนายกรัฐมนตรี และมอบหมาย พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. รักษาการ
นอกจากนี้ นายกฯเศรษฐา ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ผลสรุปให้นายกฯพิจารณาต่อไป
โดยก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เดินทางมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 10 นาที จากนั้น ทั้งคู่เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปแถลงข่าวร่วมกันที่ สตช.
ความขัดแย้งของบิ๊กตำรวจในห้วงเวลานี้ ทำให้คนนึกถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากนายตำรวจเก่า และมีเพื่อนฝูงเป็นอดีตนายตำรวจใหญ่
แม้วันนี้ ทักษิณจะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่บารมียังเหลือล้น ดูได้จากวันที่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เชียงใหม่ เพราะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนายตำรวจวิ่งเข้าหามากมาย
เมื่ออดีตนายกฯทักษิณ กลายเป็นศูนย์อำนาจใหม่(หลังม่าน) จึงถูกคาดหวังจากคนบางกลุ่มให้เข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของ 2 บิ๊กตำรวจ
วาทกรรมรัฐตำรวจ
เวลาเกิดศึกใหญ่ใน สตช. ผู้คนก็จะพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นยุครัฐบาล 377 เสียงของทักษิณ หรือรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่ก็ปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ
ย้อนไปเมื่อ 17 ต.ค. 2541 กรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ถ่ายโอนไปขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก
ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้พยายามปฏิรูปตำรวจ โดยมีการตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งมีการแบ่งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แต่ก็ทำได้แค่นั้น
ปี 2546 อดีตนายกฯทักษิณ ดำเนินนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด ได้รับคำชื่นชมจากประชาชนส่วนใหญ่ เพราะต้องการเห็นปราบปรามพ่อค้ายาบ้าด้วยมาตรการเด็ดขาด แต่ก็ตามมาด้วยการร้องกรณีฆ่าตัดตอนกว่า 3,000 ศพ พร้อมวาทกรรมรัฐตำรวจ
ปี 2547 ไฟใต้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง อดีตนายกฯทักษิณ ประเมินว่า เหตุปล้นปืนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องโจรกระจอก จึงส่งตำรวจลงแก้ปัญหาชายแดนใต้ ด้วยวิธีการแบบรัฐตำรวจ ซึ่งได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการต้านรัฐไทย จนบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน
ตำรวจระบอบทักษิณ
จากปี 2544 จนถึงปี 2554 เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศ 3 ยุคคือ รัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลพลังประชาชน และรัฐบาลเพื่อไทย ปรากฏว่า มีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. 3 คน ซึ่งคนสุดท้ายถูกวิจารณ์ว่า เป็นนายตำรวจระบอบทักษิณ
สมัยรัฐบาลทักษิณ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็น ผบ.ตร.ช่วงปี 2544-2547 หลังจากนั้น ทักษิณย้ายไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จนเกษียณอายุราชการ
สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร.ช่วงปี 2551 ถึง 30 ก.ย.2552
รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการสำนักนายกฯ ต่อมา ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกฯ มีคำสั่งให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมเป็น ผบ.ตร.
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นรักษาการ ผบ.ตร. (15 ต.ค.2554-25 ต.ค.2554) ก่อนจะผงาด ผบ.ตร.ในวันที่ 26 ต.ค. 2554 และเกษียณอายุราชการปี 2555
ประเด็น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. ได้นำไปสู่การจุดประเด็นการเมืองโดยกล่าวหาว่า เป็นผลพวงมาจากระบอบทักษิณ
มาถึงปัจจุบัน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องพิสูจน์ภาวะผู้นำในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน สตช. เฉพาะยกแรก เศรษฐาสั่งเด้งบิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก เข้าทำเนียบฯ ถือว่า ได้แต้มได้ใจจากประชาชนไปพอสมควร