คอลัมนิสต์

ตำนานพรรคผี ‘ทักษิณ’ ฟื้นสัมพันธ์ ‘ชินวัตร-ฉายแสง’ รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

ตำนานพรรคผี ‘ทักษิณ’ ฟื้นสัมพันธ์ ‘ชินวัตร-ฉายแสง’ รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

31 มี.ค. 2567

เดินเกมรุกการเมือง ทักษิณ ร่วมส่งดวงวิญญาณต้นตระกูล ฉายแสง เปิดสัมพันธ์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ตอกย้ำบ้านใหญ่แปดริ้วยังไม่ทิ้งเพื่อไทย ลุ้นจาตุรนต์นั่งเก้าอี้ใหญ่

ออกงานอีกแล้ว ทักษิณ ส่งดวงวิญญาณต้นตระกูลฉายแสง เปิดสัมพันธ์จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ตอกย้ำบ้านใหญ่แปดริ้วยังไม่ทิ้งเพื่อไทย ลุ้นจาตุรนต์นั่งเก้าอี้ใหญ่


เล่าขานตำนานพรรคผี หรือผู้แทนฯไม่สังกัดพรรคใต้เงาปืน สมัยรัฐบาลถนอม เลิศ-อนันต์ รู้จักกันครั้งแรกในสภาฯ ปี 2512 และเป็นแกนนำกลุ่ม สส.อิสระ 


ทักษิณ ชินวัตร ออกเดินทางจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ไปร่วมงานพิธีพระราชทานเพลิงอนันต์ ฉายแสง บิดาจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่วัดเทพนิมิตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเย็นวันที่ 30 มี.ค. 2567
 

ในหนังสืออนุสรณ์ พิธีพระราชทานเพลิงศพอนันต์ ฉายแสง ทักษิณได้เขียนไว้อาลัยว่า “ผมเรียกคุณอนันต์ ฉายแสง ว่า อา เพราะเป็น สส. รุ่นเดียวกับคุณพ่อของผมในปี 2512 และการจากไปของ อาอนันต์ ทำให้ผมคิดถึงบุคลิกที่น่ารัก อัธยาศัยที่น่าเคารพที่ผมพบเห็นเป็นประจำ อาอนันต์รับใช้บ้านเมืองมานานต่อเนื่องมาหลาย 10 ปีขอคุณงามความดีความเสียสละแก่บ้านเมืองของท่าน จงส่งดวงวิญญาณของอาอนันต์ไปสู่สัมปรายภพตลอดนิรันดร์เทอญ”


เมื่อทักษิณเดินทางมาถึง สมาชิกครอบครัวฉายแสง ได้พาชมนิทรรศการชีวประวัติอนันต์ ฉายแสง โดยส่วนหนึ่งได้เล่าถึงความสัมพันธ์ของเลิศ ชินวัตร กับอนันต์ ฉายแสง ซึ่งทั้งคู่เป็นเพื่อน สส.รุ่นเดียวกัน 

 

ทักษิณ อ่านฉากความสัมพันธ์ อนันต์ ฉายแสง-เลิศ ชินวัตร

 


ปี 2512 อนันต์ ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา และเลิศ ชินวัตร สส.เชียงใหม่ ต่างก็เป็น สส.ไม่สังกัดพรรคหรือกลุ่มอิสระ ที่ตอนหลังนักข่าวสมัยโน้นเรียกว่า ‘พรรคผี’
 

จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสนุกตรงที่ตัวละคร ไม่เคยเปลี่่ยน แม้รุ่นพ่อจะล้มหายตายจากไป ก็มีรุ่นลูกสืบทอดมรดกการเมือง 


การเลือกตั้งทั่วไปปี 2512 รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะทหาร ได้เปิดกว้างให้มีผู้สมัคร สส.ไม่สังกัดพรรคได้ ปรากฏว่า มี สส.ไม่สังกัดพรรค ได้รับเลือกเข้ามามากถึง 71 ที่นั่งแต่ก็มี สส.อิสระ ส่วนหนึ่งอยู่ในเครือข่ายจอมพลประภาส จารุเสถียร 


สำหรับ สส.อิสระ ประมาณ 30 คน ที่ไม่อยู่เครือข่ายทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าพรรคสหประชาไทย ได้มอบให้ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ สส.ฉะเชิงเทรา ไปรวบรวมมาเป็น ‘กลุ่ม สส.อิสระ’ มาหนุนรัฐบาล


บังเอิญว่า ช่วงที่ทักษิณ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่ง ได้มีเหล่าทายาท สส.กลุ่มอิสระ ได้มาร่วมทำงานใต้ชายคาบ้านจันทร์ส่องหล้า


เลิศ ชินวัตร สส.เชียงใหม่ บิดาของทักษิณ ชินวัตร


สมพล เกยุราพันธุ์ สส.นครราชสีมา บิดาของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์


อนันต์ ฉายแสง สส.ฉะเชิงเทรา บิดาของจาตุรนต์ ฉายแสง


ชัย ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ บิดาของเนวิน ชิดชอบ


วันนี้ เนวิน ชิดชอบ แยกทางจากนายใหญ่ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกับคุณหญิงหน่อย ก็เริ่มก่อการตั้งพรรคไทยสร้างไทยในสมัยนี้

 

 

ทักษิณ ถ่ายภาพร่วมกับทายาทตระกูลฉายแสง

 

ตำนานพรรคผี
ก่อนจะเล่าเรื่องพรรคผี ก็ต้องพูดถึงการเตรียมการเลือกตั้ง 2512 ของพรรคสหประชาไทย แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนายทหารเสนาธิการและนักคิดที่ใกล้ชิดจอมพลถนอม กิตติขจร, ฝ่ายพจน์ สารสิน ที่ขึ้นตรงกับจอมพลถนอม และฝ่ายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ สายตรงของจอมพลประภาส จารุเสถียร


หลังเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยเป็นรัฐบาล จอมพลถนอมมอบให้ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา รองผู้บัญชาการทหารบก และประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ สส.ฉะเชิงเทรา รวบรวม สส.ไม่สังกัดพรรค ตั้งเป็นกลุ่มการเมืองแบบลับๆ ประมาณ 30 คน ไว้สนับสนุนรัฐบาลถนอม


เนื่องจากเป็น สส.กลุ่มลับ นักข่าวการเมืองยุคนั้น จึงเรียก สส.กลุ่มนี้ว่า ‘พรรคผี’ โดยมี โกศล ไกรฤกษ์ สส.พิษณุโลก บิดาของจุติ ไกรฤกษ์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม สส.อิสระ


ต่อมา สส.พรรคผีสร้างความปั่นป่วนในสภา เล่นเกมต่อรองเอาผลประโยชน์ จอมพลถนอมจึงตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเอง ยุบสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ


กระทั่งเดือน ตค.2516 เกิดเหตุชุมนุมใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลถนอมร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้ง สถานการณ์บานปลายกลายเป็นวันมหาวิปโยค ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงของนักศึกษาสมัยโน้นคนหนึ่ง ที่ควรบันทึกไว้คือ อนันต์ ฉายแสง