คอลัมนิสต์

ส่องธาตุแท้ ‘ทักษิณ’ นักปฏิรูปสู่ ‘พรรคนายใหญ่’ ดิ้นหนีขั้วขวาใหม่

ส่องธาตุแท้ ‘ทักษิณ’ นักปฏิรูปสู่ ‘พรรคนายใหญ่’ ดิ้นหนีขั้วขวาใหม่

05 เม.ย. 2567

26 ปีบนถนนการเมือง ทักษิณ จากนักปฏิรูปการเมืองสู่หัวหน้าซุ้มบ้านใหญ่ เปิดศักราชเพื่อไทยยุคดีเอ็นเอพ่อ-แม่ สลัดทิ้งอนุรักษนิยมใหม่

ตีแผ่ธาตุแท้ ทักษิณ นักปฏิรูปการเมือง สู่ผู้มากบารมีหัวหน้าซุ้มบ้านใหญ่ พลาดท่าเกมอำนาจต้องลี้ภัย และกลับไทยในเงื่อนไขดีลลับ 


แหวกม่านพรรคนายใหญ่ ยุคดีเอ็นเอทักษิณ-พจมาน สลัดทิ้งอนุรักษ นิยมใหม่ ฟื้นภาพนักปฏิรูป ยืมมือจักรภพเคลียร์จุดยืน-อุดมการณ์  


ช็อตเด็ดของการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 คือ VTR บทสัมภาษณ์ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำทางจิตวิญญาณ
 

ใน VTR ทักษิณต้องการสื่อสาร 3 ประเด็นคือ เพื่อไทย ไม่ใช่อนุรักษนิยมใหม่ เพราะกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ที่ยึดแนวปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ


เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เหมาะสมกับการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน และเป็นผู้ที่มีเครือข่ายในเมือง หรือกลุ่มอีลิต


อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร มีดีเอ็นเอทั้งพ่อทักษิณ และแม่พจมาน จึงเหมาะสมกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้


นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ย้ำหลายครั้งกับคำว่า ‘การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน’ คล้ายจะบอกว่า รัฐบาลข้ามขั้วในเงื่อนไขดีลลับ ก็เกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าวนี้


ว่ากันตามจริง ทักษิณเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เติบโตจากธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ฉายาอัศวินคลื่นลูกที่สาม เขาไม่ใช่อนุรักษนิยม หรือนักเลือกตั้งบ้านใหญ่

ไฟต์บังคับจับขั้ว
เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ใช้ต้นทุนอันมหาศาลไปกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ส่งผลให้เรตติ้งร่วงหนัก ทักษิณจึงเปิดเกมสลัดทิ้งอนุรักษนิยมใหม่


ด้วยการขุดภาพอดีต พรรคไทยรักไทยที่ก่อตั้งวันที่ 14 ก.ค. 2541 ซึ่งมาพร้อมกับแบรนด์นักปฏิรูปทางการเมือง หรือ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยในวันนี้

 

 

ทักษิณ พบกับ สส.เพื่อไทย ผ่าน VTR เป็นครั้งแรก

 


จุดเริ่มต้นของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 ก็ไม่ต่างจากพรรคไทยรักไทย เพราะคณะผู้ก่อการทั้งสองพรรค ต่างมุ่งหวังจะก่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง


ทักษิณต่างจากธนาธร เมื่อก้าวเป็นนายกฯ ทักษิณหลงทางหลงเกมอำนาจ จึงพลาดท่าปราชัยฝ่ายจารีต และต้องลี้ภัยนานกว่า 17 ปี


การที่ทักษิณ ตัดสินใจดึง จักรภพ เพ็ญแข ที่มีภาพลักษณ์ปฏิปักษ์ปีกอนุรักษนิยม กลับมาทำงานการเมือง ก็เพื่อตอบโจทย์ข้อกล่าวหา ‘อนุรักษนิยมใหม่’ จากปีกพลพรรคสีส้ม

 

 

พรรคอภิมหาบ้านใหญ่
เมื่อทักษิณดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 4 ปี พรรคไทยรักไทย ได้กลายสภาพจากพรรคมีแนวทางปฏิรูปการเมือง เป็นพรรคบ้านใหญ่


เนื่องจากทักษิณ พยายามชักนำพรรคการเมืองเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงพรรค ทรท. อย่างเช่นเจรจาควบรวมกับพรรคความหวังใหม่ และพรรคเสรีธรรม พร้อมกับดึงนักการเมืองบ้านใหญ่อีกหลายพรรคเข้ามาอยู่ในพรรคเดียวกัน


ช่วงการเลือกตั้งปี 2548 ทักษิณ แบ่งพื้นที่ให้รองหัวหน้าพรรค หรือหัวหน้าซุ้มบริหารฐานเสียง ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย 377 เสียง 


สมัยโน้นเป็นที่รู้กันว่า นายใหญ่อนุญาตให้สร้างมุ้งย่อย เพื่อดูแลจัดการ สส.ให้อยู่ในระเบียบวินัย โดยมีมากกว่า 10 มุ้ง


- มุ้งจันทร์ส่องหล้า หมายถึงกลุ่มคนใกล้ชิดนายใหญ่-นายหญิง 
- มุ้งวังน้ำยม นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 
- มุ้งวังน้ำปิง เดิมชื่อวังบัวบาน ของเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์


- มุ้งวังพญานาค นำโดยพินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงษ์ชนะ
- มุ้งวังน้ำเย็น ของเสนาะ เทียนทอง ที่ย้ายมาจากพรรคความหวังใหม่
- มุ้งวังมะนาว นำโดยประชา มาลีนนท์ พร้อมกลุ่ม สส.ภาคตะวันตก


- มุ้งเมืองหลวง ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 
- มุ้งเมืองชล กำนันเป๊าะย้ายจากชาติไทย ตามคำเชิญของทักษิณ
- มุ้งอีสานเขียว กลุ่ม สส.อีสานสายตรง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 


- มุ้งลำตะคอง ของกลุ่มสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และกลุ่ม สส.โคราช
- มุ้งนกแล หมายถึง สส.ไทยรักไทย สมัยแรกปี 2544 พวกเขาไม่ใช่ สส.บ้านใหญ่ 


พรรคที่โตพรวดพราดได้เสียงมากถึง 377 ที่นั่ง กลายเป็นจุดอ่อน ถูกโจมตีเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือระบอบทักษิณ อันนำไปสู่การประท้วงขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่เมื่อปี 2549