เดือดสิบทิศ ‘มินอ่องหล่าย’ พ่ายแต่ไม่แพ้ ‘ทัพชาติพันธุ์’ ศึกนี้ยาวไกล
ร้อนแล้งในเมียนมา มินอ่องหล่าย พ่ายสิบทิศ ถดถอยตกต่ำ แต่ไม่ยอมแพ้ กองทัพชาติพันธุ์รุกใหญ่ คู่ขนานกองทัพประชาชนฝ่ายหนุนซูจี
สงครามหน้าแล้ง มินอ่องหล่าย พ่ายสิบทิศ ถดถอยตกต่ำ แต่ไม่ยอมแพ้ กองทัพชาติพันธุ์รุกใหญ่ คู่ขนานกองทัพประชาชนฝ่ายหนุนซูจี
เปิดข้อมูลกองทัพชาติพันธุ์เมียนมา จากเหนือจรดใต้ คะฉิ่น ว้า โกก้าง ตะอาง ไทใหญ่ ปะโอ ลาหู่ กะยา กะเหรี่ยง มอญ อาระกัน และชิน
หน้าแล้งปี 2567 สงครามในเมียนมา ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากกองทัพเมียนมา เพลี้ยงพล้ำในหลายสนามรบ ตรงข้าม กองทัพชาติพันธุ์ได้รับชัยชนะ ยึดเมืองได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างเช่นกรณีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) และกองทัพประชาชน(PDF) เข้ายึดเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) จะแก้เกมสงครามนี้อย่างไร เพราะข่าวชัยชนะของฝ่ายต่อต้าน ยิ่งปลุกเร้าประชาชนเมียนมาให้เข้าร่วมกับ PDF มากขึ้น
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2564 ฝ่ายสนับสนุนอองซาน ซูจี จัดตั้งรัฐบาลเอก ภาพแห่งชาติ (NUG) พร้อมจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธ
สภาบริหารภาครัฐ(SAC) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) คือคู่ขัดแย้งหลัก และคู่สงครามชิงอำนาจรัฐ
หากมองลึกลงไป ในเมียนมายังมี ‘กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์’ มากกว่า 25 กลุ่ม ที่เป็นตัวแปรที่สำคัญ
ปลายปีที่แล้ว พันธมิตรสามภราดรภาพคือ กองทัพโกก้าง(MNDAA), กองทัพตะอาง(TNLA) และกองทัพอาระกัน(AA) เปิดปฏิบัติการทางทหารภายใต้รหัส 1027 ในรัฐฉานตอนเหนือ และสามารถยึดครองพื้นที่ได้ 35 เมือง
หลังบรรลุเป้าหมายทางการทหาร กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพก็หยุดรบ และเปิดการเจรจากับ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย
เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG) พวกเขาจึงไม่ได้ขยายแนวรบ และเคลื่อนกำลังมุ่งสู่เมืองหลวงเนปิดอว์
หน้าแล้งสีเลือด
เมื่อเสียงปืนการต่อต้านในรัฐฉานเงียบลง เสียงปืนทางภาคเหนือก็ดังขึ้นในรัฐกะฉิ่น โดยกองทัพเอกราชกะฉิ่น(KIA) ได้เปิดปฏิบัติการทางทหาร ภายใต้รหัส 0307 โจมตีฐานที่มั่นทหารเมียนมาหลายแห่ง
ล่าสุด กองทัพเอกราชกะฉิ่น(KIA) สรุปยุทธการ 0307 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย.นี้ ยึดฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์และฐานปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมาได้แล้ว 63 แห่ง
ส่วนในรัฐยะไข่ กองทัพอาระกัน(AA) โจมตีฐานที่มั่นทหารเมียนมาต่อเนื่อง โดยมีการยึดกองทหารระดับกองพันได้หลายแห่ง
นักวิชาการไทยบางกลุ่ม วาดฉากทัศน์ว่า ฝ่ายต่อต้านจะรุกใหญ่จากชายขอบประเทศ เข้าสู่เมืองหลวงตามสูตรสำเร็จชนบทล้อมเมือง แต่สงครามในเมียนมา มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสมัยสงครามเวียดนาม กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ มีอุดมการณ์และแนวทาง แตกต่างจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ(NUG)
ดังนั้น กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ จึงเป็นตัวแปรในศึกชิงอำนาจ ระหว่างเผด็จการทหาร และฝ่ายสนับสนุนอองซาน ซูจี
โฉมหน้ากองกำลังชาติพันธุ์
กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขตป่าเขาตามแนวพรมแดน
ภาคเหนือ (พรมแดนเมียนมา-จีน) ในรัฐคะฉิ่น
-กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA)
-แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)
-กองทัพไตแดง (SNA)
ภาคตะวันออก (พรมแดนเมียนมา-จีน) ในรัฐฉาน
-กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) หรือว้าแดง
-กองทัพโกก้าง(MNDAA)
-กองทัพตะอาง (TNLA)
-กองทัพเมืองลา(NDAA)
-พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA) หรือไทใหญ่เหนือ
-สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือไทใหญ่ใต้ (เจ้ายอดศึก)
-องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
-สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)
ภาคใต้ (พรมแดนเมียนมา-ไทย) ในรัฐกะเหรี่ยง และรัฐกะยา
-สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU/KNLA)
-กองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) หรือกองกำลัง BGF (หม่องชิดตู่)
-กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตย(DKBA)
-สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
-องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO)
-พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
-พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง/กองทัพกะยา (KNPP/KA)
-กองทัพปลดปล่อยประชาชนแห่งชาติกะยา (KNPLF) หรือกะเหรี่ยงดาวแดง
ภาคตะวันตก (พรมแดนเมียนมา-อินเดีย-บังคลาเทศ) ในรัฐยะไข่
-กองทัพอาระกัน(AA)
-กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA)
-แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF)