คอลัมนิสต์

ยึดเบ็ดเสร็จ ‘เมียวดี’ เกมสงครามเปลี่ยน ‘กะเหรี่ยง’ สามก๊กเอายังไง

ยึดเบ็ดเสร็จ ‘เมียวดี’ เกมสงครามเปลี่ยน ‘กะเหรี่ยง’ สามก๊กเอายังไง

11 เม.ย. 2567

แนวรบตะวันตกเปลี่ยน เมียวดี ในเงื้อมมือกองทัพชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNU-KNLA คุมเมืองเก่า KNA หม่องชิดตู่คุมเมืองใหม่ทุนจีนสีเทา

ยึดเบ็ดเสร็จ เมียวดี ในเงื้อมมือชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ดุลอำนาจเปลี่ยนKNU-KNLA คุมเมืองเก่า KNA หม่องชิดตู่คุมเมืองใหม่ทุนจีนสีเทา


30 ปีที่รอคอย นับแต่นายพลโบเมียะพ่ายทหารเมียนมา ชั่วโมงนี้ KNU ยึดเมียวดี เป็นการนับหนึ่งสู่เส้นทางรัฐกะเหรี่ยง รัฐเอกราชในฝัน   


ในที่สุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA), กองทัพกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ได้เข้ายึดที่ตั้งกองพัน 275 ค่ายผาซอง ที่มั่นสุดท้ายของทหารเมียนมาในเมืองเมียวดีได้ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 11 เม.ย. 2567

แม้ พล.อ.อาวุโส โซวิน ผบ.ทบ.กองทัพเมียนมา จะส่งกำลังทหารและรถหุ้มเกราะล้อยาง เดินทางจากเมืองผาอัน มาสนับสนุนทหารในเมืองเมียวดี แต่ก็ถูกทหาร KNLA สกัดไว้ที่เมืองกอกะเร็ก


เมืองเมียวดี ตกมาอยู่ในเงื้อมมือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นับเป็นข่าวใหญ่ไปทั้งโลก


30 ปีที่แล้ว รัฐกะเหรี่ยง ภายใต้การนำของนายพลโบเมียะ ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) พ่ายกองทัพเมียนมา ทำให้ตลอดแนวพรมแดนไทย-เมียนมา มีฐานทหารเมียนมาขึ้นมาแทนฐานทหารกะเหรี่ยง


สาเหตุที่รัฐกะเหรี่ยงของนายพลโบเมียะแตกพ่าย เพราะความแตกแยกภายใน KNU เมื่อกะเหรี่ยงพุทธแยกตัวออกไปสวามิภักดิ์ต่อเผด็จการ ทหารเมียนมา


ภายหลัง กะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)บางส่วน ได้แปรเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) ขึ้นต่อกองทัพเมียนมาโดยตรง


อย่างเช่น พ.อ.ซอชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ อดีตผู้บังคับการกองบัญชาการควบคุมที่ 3 กองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF) ที่ดูแลควบคุม จ.กอกะเร็ก และ จ.เมียวดี 
 

ดังที่ทราบกัน จุดเปลี่ยนของสงครามชิงเมืองเมียวดี อยู่ที่บทบาทของหม่องชิดตู่ ที่แยกทางกับ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย หันหลังให้ BGF แล้วหันมาตั้งกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNA) 


วันที่ 4 เม.ย. 2567 หม่องชิดตู่ สั่งถอนกำลังทหารกะเหรี่ยง KNA ออกจากพื้นที่บางจุดบริเวณชานเมืองเมียวดี เปิดทางให้ทหารกะเหรี่ยง KNLA บุกเข้ายึดฐานทหารเมียนมาได้อย่างง่ายดาย


นับจากนี้ไป เมืองเมียวดี จะอยู่ในการควบคุมกองทัพชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งอนาคตเมืองเมียวดี ก็ขึ้นอยู่กับกะเหรี่ยง 3 ก๊กดังนี้


ก๊กแรกคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เป็นองค์กรนำสูงสุดทางการเมืองของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เสมือนคณะผู้บริหารรัฐกะเหรี่ยง


ก๊กที่สองคือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรทางทหารของ KNU แบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 7 กองพล 


ก๊กที่สามคือ กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNA) หรืออดีต BGF ที่ควบคุม ดูแลเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเมืองใหม่เคเคพาร์ค เมืองเมียวดี

 

พล.ท.บอจ่อแฮ นายทหารกะเหรี่ยง สายแข็ง

 

มุ่งสู่ฝันรัฐเอกราช
ปัจจุบัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) มี ซอ กวยทูวิน เป็นประธานKNU คนที่ 10 สืบต่อจาก พล.อ.มูตูเซโพ ที่มีอายุกว่า 90 ปี และมีปัญหาสุขภาพ


ปี 2557 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) เจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐบาลทหารเมียนมา และนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ 


หลังการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ KNU แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำโดย KNLA กองพลที่ 7 จ.ผาอัน ที่มี พล.อ.มูตูเซพอ เป็นผู้นำ โดยกลุ่มนี้ มุ่งเน้นการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง จึงต้องร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา


กลุ่มที่สอง พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) อดีตผู้บัญชาการ KNLA กองพลที่ 5


พล.ท.บอจ่อแฮ ไม่ไว้ใจการร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา เรียกร้องให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศ


สรุปว่า ภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ยังมีความแตกต่างทางแนวคิดและการเมือง ระหว่างแนวทางเจรจากับทหารเมียนมา และต่อสู้แตกหัก ไม่เจรจา

 

อาณาจักรทุนจีนสีเทา
เมืองเมียวดี ประตูการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของไทย-เมียนมา มูลค่าสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทางนี้แต่ละปี มูลค่านับแสนล้านบาท


เมืองเมียวดี ยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะอาชญากรรมไซเบอร์ของกลุ่มคนจีนหรือทุนจีนสีเทา ไม่แพ้ที่เมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองตน เองโกก้าง ชายแดนเมียนมา-จีน ในอดีต


ทุกวันนี้ พ.อ.ซอชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ เป็นผู้บัญชาการรับผิดชอบพื้นที่เมืองเมียวดี รวมถึงเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเคเคพาร์ค 


สถานการณ์ในวันข้างหน้า เมียวดีจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหม่องชิดตู่ จะเลือกยืนข้าง KNU หรือหวนกลับไปอยู่กับ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย