ดีลใหม่ ‘วิษณุ’ ที่ปรึกษาลี้ลับ ‘เศรษฐา-ทักษิณ’ กับข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธ
ข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้ ทักษิณ-เศรษฐา เข้าสู่กับดักนิติสงคราม วิษณุซูเปอร์เนติบริกร รับบทสะพานเชื่อม สานต่อดีลใหญ่ รักษาดุลอำนาจ
ดั่งรองนายกฯ วิษณุ สมราคาซูเปอร์เนติบริกร ทักษิณ-เศรษฐา ได้รับข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้ จึงเรียกใช้บริการคนหน้าเดิม ในวังวนการเมืองลี้ลับ
สถานะรัฐบาลพิเศษในฤดูมรสุม ทักษิณ-เศรษฐา เข้าสู่ภาวะนิติสงคราม จึงต้องมีเนติบริกร รับบทสะพานเชื่อม สานต่อดีลใหญ่ รักษาดุลอำนาจ
หลังมีการเผยแพร่คำสั่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง วิษณุ เครืองงาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ หลายคนถึงกับอุทานว่า นี่คือ รองนายกรัฐมนตรี
จริงๆแล้ว ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ไม่มีเงินเดือน ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช.
นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งที่ปรึกษาแบบนี้กี่คนก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมา สื่อมวลชนมักเรียกที่ปรึกษาของนายกฯ ว่าเป็นตำแหน่งเทกระโถน
สำหรับกรณี วิษณุ เครืองาม ไม่ใช่แบบนั้น ดูได้จากหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบ และกลั่นกรองร่างกฎหมาย ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2. ให้คำปรึกษา และเสนอความเห็นทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรี
3. เข้าถึงเอกสารราชการ สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุม หรือให้ข้อมูลได้
4. กระบอกเสียงนายกฯ ด้านข้อกฎหมาย สร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน
5. มีคณะทำงานหรืออนุกรรมการ สนับสนุนการทำงาน
ดังนั้น ที่ปรึกษาของนายกฯ ที่ชื่อ วิษณุ จึงถูกมองว่าเป็นซูเปอร์เนติบริกร เนื่องจากมีหน้าที่และอำนาจดังรองนายกฯ
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเนติบริกรยืนยันว่า วิษณุไม่ประสงค์จะมาช่วยงานรัฐบาล เพราะปัญหาสุขภาพ แต่ปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่ได้ จึงต้องมารับงานนี้อีกครั้ง
ฝั่งนายกฯเศรษฐา และบ้านจันทร์ส่องหล้า ก็กระอ่วนกระอ่วนใจที่จะดึงตัววิษณุมาใช้งาน เพราะเคยมีปัญหาวิวาทะกันมาก่อน แต่ได้รับข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้ จึงต้องกลืนน้ำลายเรียกใช้บริการเนติบริกรอีกครั้ง
ข้อเสนอที่มิอาจปฏิเสธได้
เบื้องหลังตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี’ ของวิษณุ เครืองาม อันซับซ้อนซ่อนปม ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่คือ สถานการณ์การเมืองอันลี้ลับ เหมือนทักษิณพูดไว้ที่โคราช
ยกแรกที่นายกฯเศรษฐา คุยกับวิษณุ เหมือนจะลงตัวที่ตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แต่ภายหลัง มีการต่อรองเรื่องเป็นที่ปรึกษาแบบไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง แต่มีอำนาจราวกับรองนายกฯ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจาก ทักษิณ ติดบ่วงกฎหมาย ถูกอัยการสั่งฟ้องความผิดตาม ม.112 รอนำตัวยื่นฟ้องศาลดำเนินคดีในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ฝั่งอำนาจเก่าตัวจริง จึงกุมความได้เปรียบทางการเมือง พร้อมกับข้อเสนออันปฏิเสธมิได้
การปรากฏตัวของวิษณุ ใน ครม.เศรษฐา น่าจะเป็นสร้างสมดุลใหม่ ระหว่างขั้วอำนาจใหม่ กับขั้วอำนาจเก่า เพื่อมิให้นายใหญ่เหาะเหินเกินลงกา
ประเมินว่า คดี 112 ของทักษิณ คงต้องประลองกัน ตั้งแต่ศาลชั้นต้นยันศาลฎีกา อะไรก็เกิดขึ้นได้ และเชื่อว่า ทักษิณจะไม่หนีออกไปต่างประเทศเหมือนที่มีการปล่อยข่าวลือในเวลานี้
ยิ่งกว่าละครบ้านทรายทอง
วิษณุ เครืองาม ซือแป๋นักกฎหมาย ยังเป็นนักเขียนฝีมือเยี่ยม เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เฉพาะ ‘โลกนี้คือละคร’ กับ ‘เล่าเรื่องผู้นำ’ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2554 มีเรื่องราวความสัมพันธ์กับ ทักษิณ ชินวัตร อยู่หลายบทหลายตอน
ในหนังสือ ‘เล่าเรื่องผู้นำ’ วิษณุบอกว่า เคยเห็นชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2516 เพราะสมัยนั้น วิษณุได้ทุนของ ก.พ. ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ส่วน ร.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร สอบได้ที่ 1 ของรุ่น จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ในวันปฐมนิเทศนักเรียนทุน ก.พ. ทักษิณไม่ได้มา จึงได้พบหน้ากัน
กระทั่งในรัฐบาลชวน 1 ทักษิณเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ วิษณุเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี จึงได้เจอหน้ากันครั้งแรก
เมื่อวิษณุได้ทำงานเป็นรองนายกฯ ในรัฐบาลทักษิณ 3 ปีเศษ จึงสรุปความเป็นผู้นำของทักษิณไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า ‘นายกฯทักษิณ เป็นคนที่มีคมดาบส่วนที่เป็นคุณอยู่มาก เป็นความหวังของประเทศได้คนหนึ่ง...แต่ก็มีคมดาบอีกด้านที่เป็นจุดอ่อน..’
ซูเปอร์เนติบริกรหวนกลับมาทำงานกับทักษิณอีกครั้ง แต่ในสถานะใหม่ ไม่ใช่บ๋อย ไม่ใช่เสี่ยวเอ้อ หากแต่เป็น ‘สะพานเชื่อม’ ในการเมืองลี้ลับ