คอลัมนิสต์

ใหญ่กว่าอุทัยฯ “ชาดา” ผงาดเหนือ “เจ้าพระยา” ปั้นบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์

จากบ้านดอนหมื่นแสน ชาดา ปั้นระบอบบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ ยึดครองสมรภูมิลุ่มเจ้าพระยา ปักธงสีน้ำเงิน จากปากน้ำโพ โผล่ปทุมธานี

ชาดา ไทยเศรษฐ์ จัดงานวันเกิด 7 มิ.ย.67 ที่บ้านดอนหมื่นแสน

 

ใหญ่กว่าอุทัยฯ ชาดา ปั้นระบอบบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ เจ้าพระยา-สะแกกรัง ปักธงสีน้ำเงินจากปากน้ำโพ โผล่เมืองปทุมธานี 


จับตา 30 มิถุนา สมรภูมิเดิมพัน 3 อบจ.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พันธมิตรบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ ส.จันทะพิงค์ กำนันตี๋ และคำรณวิทย์ ใครเข้าวิน


วันที่ 7 มิ.ย.2567 ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ได้จัดงานฉลองวันเกิด ครบรอบ 63 ปี ที่บ้านดอนหมื่นแสน อ.เมือง จ.อุทัยธานี ซึ่งปีนี้ ไม่ได้จัดงานใหญ่โต เนื่องจากชาดา และครอบครัว จะเดินไปทางประ กอบพิธีฮัจย์ที่ซาอุดิอาระเบีย


กล่าวสำหรับ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ในวันนี้ บารมีไม่ได้แผ่ไพศาลแค่เมืองอุทัยธานี นับแต่การเลือกตั้ง สส.สมัยที่แล้ว ตระกูลไทยเศรษฐ์ ได้ยกระดับเป็น “บ้านใหญ่” ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ จัดงานวันเกิด 7 มิ.ย.67 ที่บ้านดอนหมื่นแสน


เนื่องจากชาดา เป็นแม่ทัพภาคกลางของพรรคภูมิใจไทย ไล่ตั้งแต่นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
 

เฉพาะหน้านี้ วันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย.2567 กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. 3 จังหวัดคือ นครสวรรค์ ,อ่างทอง และปทุมธานี  
 

แชมป์เก่าอย่าง ฉลามดำ-พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ อดีตนายก อบจ.นครสวรรค์ ,กำนันตี๋-สุรเชษ นิ่มกุล อดีตนายก อบจ.อ่างทอง และพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ล้วนแต่มีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้น 
 

เหนืออื่นใด สามสหายอดีตนายก อบจ.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่างก็คุ้นเคยกับชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย 
 

ชั่วโมงนี้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ มิได้กังวลเรื่องฐานการเมืองใน จ.อุทัยธานี เพราะมีลูกสาว ปานัดฌา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยฯ และเผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี รับผิดชอบพื้นที่อยู่ 
 

เผด็จ นุ้ยปรี เป็นนายก อบจ.สมัยที่ 4 แบบไร้คู่แข่ง ซึ่งตระกูลนุ้ยปรี ก็เป็นพันธมิตรการเมืองของบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ มานานกว่า 20 ปีแล้ว


“บ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์” จึงยกระดับจากท้องถิ่นเมืองอุทัยฯ ขึ้นเป็นบ้านใหญ่ภาคกลาง ดูแลสนามเลือกตั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสะแกกรัง

ยึดปากน้ำโพ
 

นครสวรรค์ เป็นพื้นที่ติดต่อกับอุทัยธานี ชาดา มีความพยายามจะขยายฐานการเมืองลุ่มน้ำสะแกกรัง สู่เมืองปากน้ำโพ ตั้งแต่ปี 2562 
 

กระทั่งปี 2563 ชาดา จับมืออดีตมือปราบฉลามดำ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ตั้งกลุ่มพัฒนานครสวรรค์บ้านเรา จัดทีมผู้สมัครนายก อบจ.นครสวรรค์ และสภา อบจ.นครสวรรค์
 

ชาดา ยังประสานกับ สส.นครสวรรค์ ทุกพรรคสมัยนั้น ให้ช่วยหนุน พล.ต.อ.สมศักดิ์ จนได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.นครสวรรค์ 
 

ตลอดเวลาการบริหารงาน อบจ.ปากน้ำโพ พล.ต.อ.สมศักดิ์ หรือค่าย ส.จันทะพิงค์ ได้ปูทางสร้างฐานร่วมกับชาดา ไทยเศรษฐ์ และมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง สส.
 

ผลเลือกตั้ง สส.นครสวรรค์ ปีที่แล้ว ภูมิใจไทย ได้ สส.ตามเป้าหมาย 2 คนคือ มานพ ศรีผึ้ง และพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ 


ส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ.นครสวรรค์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ พล.ต.อ.สมศักดิ์ คงได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.สมัยที่ 2 เพราะไร้คู่แข่งสายแข็ง
 

เช่นเดียวกับ กำนันตี๋ สุรเชษ นิ่มกุล อดีตนายก อบจ.อ่างทอง หลายสมัยที่ลงสนามแบบไร้คู่แข่ง ซึ่งบ้านใหญ่ปริศนานันทกุล การันตียี่ห้อกำนันตี๋ไว้เรียบร้อยแล้ว


กรุงเก่า-เมืองปทุม
 

สมรภูมิเลือกตั้งพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี มี สส. 12 คน ดังนั้น พรรคภูมิใจไทย จึงมอบให้ชาดา ไทยเศรษฐ์ และ สมทรง พันธุ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแม่ทัพใหญ่
 

ก่อนหน้านั้น เนวิน ชิดชอบ มอบให้ชาญ พวงเพ็ชร์ และซ้อสมทรง ดูแลสนามเมืองปทุมฯ และกรุงเก่า เมื่อชาญทิ้งค่ายบุรีรัมย์ ชาดาจึงเข้ามาเสริมทีมซ้อสมทรง
 

ปีที่แล้ว ซ้อสมทรง บ้านใหญ่วังน้อย เจอพายุสีส้มกระหน่ำหนักที่กรุงเก่า ทำให้ค่ายสีน้ำเงินไม่ชนะยกจังหวัด
 

สส.อยุธยา ในซุ้มซ้อสมทรงจึงเหลือ 3 คนคือ พิมพฤดา ตันจรารักษ์ หลานสาวซ้อสมทรง, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ลูกชายซ้อสมทรง และ ประดิษฐ์ สังขจาย 
 

ส่วนสนามเมืองปทุมธานี ค่ายสีน้ำเงินแทรกตัวเข้าไปไม่ได้แม้แต่ 1 ที่นั่ง แม้ตัวเต็งอย่าง พิษณุ พลธี อดีต สส.ปทุมฯ ที่ซ้อสมทรงฝากความ หวังไว้ ก็ยังร่วง
 

การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี แจ๊ส คำรณวิทย์ แพ้หรือชนะ ย่อมส่งผลกระทบถึงภูมิใจไทยในพื้นที่ 
 

ทั้งหมดนี้คือ พัฒนาการของบ้านใหญ่ไทยเศรษฐ์ ที่เริ่มต้นลุ่มน้ำสะแกกรัง ก่อนจะแผ่บารมีจากปากน้ำโพ มาถึงที่ราบลุ่มเมืองปทุมธานี

ข่าวที่น่าสนใจ