คอลัมนิสต์

เกมพลิก “ทักษิณ” ส่อแพ้ศึก “อบจ.ปทุมฯ” บ้านใหญ่พ่ายกระแสแจ๊ส

โค้งสุดท้าย ทักษิณ ส่อแพ้ศึก อบจ.ปทุมธานี คำรณวิทย์ แซงโค้งสุดท้าย ชาญ แผ่วปลาย บทเรียนบ้านใหญ่ปทุมฯอาจพ่ายกระแสแจ๊ส

 

โอ๊ค พานทองแท้ ลุยเมืองปทุมฯ ส่วนอุ๊งอิ๊ง ไปปราศรัย 28 มิ.ย.นี้

 

เดิมพันยี่ห้อ ทักษิณ สนาม อบจ.ปทุมธานี คำรณวิทย์ แซงโค้งสุดท้าย ชาญ แผ่วปลาย บทเรียนบ้านใหญ่เพื่อไทย ส่อแพ้แล้วแพ้อีก

 

 

ตระกูลชินวัตร แพ้ไม่ได้ ส่งพานทองแท้ ปิดท้ายด้วยแพทองธาร ปลุกแดงเมืองปทุม หนุนลุงชาญ โชคร้ายกระแสทักษิณจุดไม่ติด 

 

 

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ทุกสายตาจับจ้องไปที่คู่ชิงดำ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กลุ่มคนรักปทุม และ ชาญ พวงเพ็ชร์ พรรคเพื่อไทย

 

 

ล่าสุด ทักษิณ ชินวัตร ส่งลูกชาย โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ลงไปหาเสียงช่วยลุงชาญ แถว อ.ลาดหลุมแก้ว และ อ.สามโคก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย.2567

 

 

อ.ลาดหลุมแก้ว และ อ.สามโคก เป็นฐานเสียงของลุงชาญ และได้รับคะแนนนิยมเหนือแจ๊ส คำรณวิทย์

วันศุกร์ที่ 28 มิ.ย.นี้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะลงไปช่วยลุงชายอีกรอบ และคาดว่า น่าจะไปแถว อ.เมืองปทุมธานี และ อ.คลองหลวง 

 

 

สาเหตุที่นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ต้องเร่งเกมในสัปดาห์สุดท้าย เพราะกระแสแจ๊สมาแรง ขณะที่ลุงชาญ แผ่วลงไปดื้อๆ ทั้งที่ช่วงแรกๆ มีกระแสตอบรับดี 

 

 

พี่คนนี้ทุ่มสุดตัว

 

 

เดิมที ชาญ พวงเพ็ชร์ มีกลุ่มการเมืองของตัวเองชื่อ กลุ่มปทุมรักไทย และลงสมัครนายก อบจ.ในนามกลุ่มนี้มาโดยตลอด ยกเว้นหนนี้ที่ลุงชาญ ได้สวมเสื้อเพื่อไทย

 

 

ดังที่คนปทุมรับรู้กันทั่วไป ลุงชาญแบกยี่ห้อเพื่อไทย ก็เพราะเจ๊ใหญ่บ้านแจ้งวัฒนะไฟเขียว และนายใหญ่ก็เห็นดีเห็นงาม

 

 

21 พ.ค.2567 ทักษิณ จึงนัดพบลุงชาญ และนักการเมืองท้องถิ่นบ้านใหญ่ 8 ซุ้ม ที่โครงการเรนจ์วูดปาร์ค ลำลูกกา คลอง 11 ของเฮียเพ้ง-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

8 มิ.ย.2567 ทักษิณและอุ๊งอิ๊ง เดินทางไปเป็นประธานงานบวชลูกชายคนเล็กของ กฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี ในวันที่ 8 มิ.ย.2567 ที่ลานข้างเทศบาลตำบลธัญบุรี (คลอง7) ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี

 

 

ปรากฏการณ์งานบวชลูกนายกเบี้ยว กลายเป็นข่าวดังทั้งประเทศ แต่กลับไม่ส่งผลดีแก่คะแนนนิยมลุงชาญ 

 

 

คนปทุมธานีมองว่า การเลือกนายก อบจ. เป็นเรื่องของท้องถิ่น และความนิยมในตัวผู้สมัครอย่างแจ๊ส และลุงชาญ ไม่เกี่ยวกับการเมืองระดับประเทศ

 

 

ฉะนั้น กลยุทธ์ทักษิณในการปลุกกระแสแดงคืนถิ่น กลับกลายเป็นว่าเสื้อแดงถูกบีบให้เลือกลุงชาญ ไม่ทำให้กระแสลุงชาญกระเตื้องขึ้นมา

 

 

เปรียบฐานเสียง

 

 

จากการตรวจสอบแหล่งข่าวในพื้นที่ เรื่องคะแนนนิยมของคำรณวิทย์-ลุงชาญ ทั้ง 7 อำเภอ ปรากฏว่า อดีตนายกฯแจ๊ส มีคะแนนนำ 3 อำเภอ ส่วนอดีตนายกฯชาญ มีคะแนนนิยมนำ 2 อำเภอ และมีอีก 2 อำเภอเป็นพื้นที่ช่วงชิง

 

 

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มีคะแนนนำในพื้นที่ อ.เมืองปทุมธานี อ.ลำลูกกา และ อ.ธัญบุรี เพราะอำเภอเหล่านี้ มีลักษณะกึ่งเมืองใหญ่ ประชากรที่ไม่ใช่คนปทุมฯดั้งเดิม เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

 

 

ส่วนลุงชาญ มีคะแนนนำใน อ.สามโคก และ อ.ลาดหลุมแก้ว ซึ่งเป็นสังคมกึ่งชนบทกึ่งเมือง ประชากรส่วนใหญ่ยังเป็นคนพื้นเพปทุมธานี

 

 

สำหรับพื้นที่ช่วงชิงคือ อ.คลองหลวง ก็มีสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มีหมู่บ้านขนาดใหญ่หรือบ้านมีรั้ว เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงชุมชนวัดพระธรรมกาย 

 

 

เช่นเดียวกับ อ.หนองเสือ ชายขอบเมืองปทุมฯ ที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกร เป็นสังคมเมืองใหญ่ มีหมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

 

 

30 ปีที่แล้ว อ.หนองเสือ เป็นฐานเสียงของตระกูลหาญสวัสดิ์ เพราะมีเกษตรกร ทำสวนทำนาอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน สภาพสังคมเปลี่ยนไป คนหนองเสือส่วนใหญ่เลือกพรรคก้าวไกล

 

 

แม้ค่ายสีส้ม จะไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี แต่ด้อมส้มระดับวัยกลางคน และสูงวัย จำนวนไม่น้อยหันไปเชียร์แจ๊ส 

 

 

หากวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. แจ๊ส คำรณวิทย์ ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี สื่อคงพาดหัวข่าว ทักษิณสิ้นมนต์ที่เมืองปทุมฯ

 

 

อย่างไรก็ตาม สมรภูมินายก อบจ.ปทุมธานี ยังเวลาอีกหลายวัน ก่อนเปิดหีบบัตรลงคะแนน อะไรก็เกิดขึ้นได้ ระหว่างแจ๊ส กับลุงชาญ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ