ส่องตัวเต็ง “สมชาย” นำเครือข่าย “บ้านใหญ่” สว.สายอนุรักษ์ยึดสภาสูง
ล็อกเป้าตัวเต็ง สว.67 สมชาย-นิวัฒน์ธำรง เต็งหาม สามัคคีเครือข่ายบ้านใหญ่ สายอนุรักษนิยมยึดสภาสูง ลุ้น สว.ประชาชน ฝ่าด่านบล็อกโหวต
นับถอยหลังเลือก สว.67 สมรภูมิสุดท้าย สมชาย-นิวัฒน์ธำรง เต็งหาม นำเครือข่ายบ้านใหญ่ สายอนุรักษนิยม ยึดสภาสูง ลุ้น สว.ประชาชน
ก่อนวันดีเดย์ เมืองทองธานี กลายเป็นตลาดนัด สว. ฝ่ายประชาธิปไตยรวม ตัวแสดงพลัง เครือข่ายบ้านใหญ่ยังปักหลักอยู่แถวปริมณฑลกรุงเทพฯ
วันพุธที่ 26 มิ.ย.2567 ที่ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรัม อาคาร 4 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จะกลายเป็นสังเวียนการเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ 200 คน
จากผู้สมัคร สว.ระดับอำเภอ 4.8 หมื่นคน ผ่านการเลือกระดับจังหวัดเหลือเพียง 3 พันคน ที่ผ่านเข้าสู่รอบการเลือกระดับประเทศ เพื่อให้ได้ 200 คน เป็น สว.ชุดที่ 13 ของไทย
ภายใต้ระบบการเลือก สว.สุดพิสดาร เปิดให้เฉพาะผู้สมัคร “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพรวม 20 กลุ่ม และ “เลือกไขว้กลุ่ม” จึงเกิดเรื่องราวมากมาย ทั้งข่าวจริงข่าวลวง
มีรายงานว่า เครือข่ายบ้านใหญ่ได้ให้ผู้สมัคร สว.พักอยู่แถวจังหวัดปริมณฑลกรุงเทพฯ เพื่อสะดวกในการเดินทางสถานที่เลือก สว. แต่ผู้สมัครที่ไม่มีค่ายก็จะพักที่โรงแรมย่านเมืองทองธานี
ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชน จัดงานสัมมนา “สว.ประชาชน” ที่ห้องจูปิเตอร์เมืองทองธานี โดยผู้ที่เข้าร่วมจำนวน 300 คน ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพภายในห้อง
ส่องตัวเต็งเบอร์ใหญ่
แวดวงผู้สนใจการเมืองที่เฝ้าติดตามการเลือก สว.ปี 2567 ตั้งแต่ระดับอำเภอมาจนถึงระดับประเทศ จะโฟกัสผู้สมัคร สว.ระดับบิ๊กเนม มากเป็นพิเศษ
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยของทักษิณ ชินวัตร ชื่อนี้มีการคาดหมายว่า ถูกวางตัวให้เป็นประธานสภาสูง ตั้งแต่วันแรกที่ไปยื่นสมัคร สว.
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม 2 สมัย ทั้งสองถูกโยงไปถึงอดีตนายกฯ 2 คน จึงถูกยกให้เป็นตัวเต็ง
มีรายชื่อผู้สมัคร สว.อีกหลายสิบคน ที่มีประวัติการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายบ้านใหญ่
อาทิ มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง, วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีต ผวจ.อ่างทอง, พรเพิ่ม ทองศรี อดีตคณะทำงาน รมช.ทรงศักดิ์ ทองศรี
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ,นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา และน้องชาย สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา
กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการ กพฐ. และอดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย และสมบูรณ์ หนูนวล อดีตผู้สมัคร สส.ชุมพร พรรคภูมิใจไทย
สำหรับอดีต สส. และอดีต สว. มีจำนวนไม่มากนักในรอบสุดท้าย แต่ก็มีความน่าสนใจ ได้แก่ มานพ จรัสดำรงนิตย์ อดีต สส.ศรีสะเกษ ,กุสุมาลวดี ศิริโกมุท อดีต สส.มหาสารคาม ,กัมพล สุภาแพ่ง อดีต สส.เพชรบุรี
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ ,วิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง อดีต สส.กาฬสินธุ์ ,สรชาติ สุวรรณพรหม อดีต สส.หนองบัวลำภู ,โชคสมาน สีลาวงศ์ อดีต สส.อุดรธานี
มานะ มหาสุวีรชัย อดีต สส.ศรีสะเกษ ,สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีต สส.นครราชสีมา ,ปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา อดีต สส.นครราชสีมา, จัตุรนต์ คชสีห์ อดีต สส.ชุมพร
อัษฎางค์ แสวงการ อดีต สว.ขอนแก่น ,ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สว.นนทบุรี และนพ.ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา อดีต สส.นครสวรรค์ และอดีต สว.นครสวรรค์
สว.ภาคประชาชน
ผู้สมัคร สว.ฝั่งประชาธิปไตย ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ประมาณ 360 คน ซึ่งกูรูการเมืองเรียกพวกเขาว่า สว.สีส้ม มีรายชื่อตัวเต็งดังนี้
สุรชัย ตรงงาม ทนายความและเลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ,พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ,แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน ,สุภาพร อัษฎมงคล นักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรี
ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ,บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ,สุเทพ สุริยะมงคล คนรุ่น 6 ตุลา 2519 และประธานกลุ่มโดมรวมใจ
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงาน ,นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ,ธัชพงศ์ แกดำ แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และศรีไพร นนทรีย์ ผู้นำแรงงานรังสิต
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำแรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมหลายจังหวัด ,ผู้นำเกษตรกร และสื่อมวลชนฝ่ายก้าวหน้า อีกจำนวนหนึ่ง