คอลัมนิสต์

สว.จัดตั้ง “บ้านใหญ่” กวาดที่นั่งสภาสูง “สีน้ำเงิน” ผงาดเหนือบ้านแดง-ส้ม

สว.จัดตั้ง “บ้านใหญ่” กวาดที่นั่งสภาสูง “สีน้ำเงิน” ผงาดเหนือบ้านแดง-ส้ม

26 มิ.ย. 2567

ผลการเลือก สว.2567 บ้านใหญ่สีน้ำเงิน ผงาดเหนือบ้านใหญ่สีแดง พิสูจน์พลังจัดตั้งอนุรักษนิยม 3 ใน 4 ยึดสภาสูง ขั้วประชาธิปไตยต่ำกว่าเป้า

ศึกสองขั้ว เลือก สว.2567 บ้านใหญ่สีน้ำเงิน-สีแดง ชนะบ้านสีส้ม พิสูจน์พลังจัดตั้ง ขั้วอนุรักษนิยม 3 ใน 4 ยึดสภาสูง ขั้วประชาธิปไตยต่ำกว่าเป้า

 

ผิดคาด นิวัฒน์ธำรง สอบตกรอบแรก แต่ สมชาย ผ่านฉลุย ขณะที่ตัวเต็งขั้วประชาธิปไตยร่วงระนาว สรุปนี่คือ ชัยชนะของ สว.จัดตั้ง



ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย วันที่ 26 มิ.ย.2567 เป็นการเลือกตั้ง สว.ระดับประเทศที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งกติกาออกแบบให้มีการเลือกกันเอง ภายใน 20 กลุ่มอาชีพ

 

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองประเมินภาพรวมว่า โฉมหน้า 200 สว.ชุดใหม่ มีสภาพไม่ต่างจาก “สว.จัดตั้ง” ของเครือข่ายพรรคการเมือง

 

เมื่อสแกนรายชื่อผู้สมัคร สว.ใน 20 กลุ่มอาชีพที่ผ่านรอบแรก ปรากฏว่า ผู้ได้คะแนนอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่มาจากเครือข่าย “บ้านสีน้ำเงิน” รองลงมาคือ “บ้านสีแดง” 

 

ส่วน สว.ประชาชน ที่หลุดเข้าไปสู่รอบเลือกไขว้ มีจำนวนหลักร้อยก็จริง แต่คะแนนก็ต่ำ เสี่ยงสอบตกรอบที่สอง

 

สำหรับคนเด่นคนดังที่สอบตกในรอบแรก ประกอบด้วย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ,ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สว.นนทบุรี 2 สมัย , ฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ หรือ กล้วย เชิญยิ้ม และจุมพล ทองตัน หรือ โกไข่

 

ขั้วประชาธิปไตย ก็มีตัวเต็งหลายคนที่ไม่ผ่านรอบแรก อาทิ สุรชัย ตรงงาม ทนายความภาคประชาชน,พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐ ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,ไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไทย และหทัยรัตน์ พหลทัพ บก.เดอะอีสานเรกคอร์ด

บ้านใหญ่สีน้ำเงินผงาด
 

แม้ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายก รัฐมนตรี จะผ่านรอบแรก แต่ได้คะแนนอยู่ระดับกลางๆ เช่นเดียวกับ ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม 2 สมัย ในกลุ่ม 14

 

ผลการเลือก สว.รอบแรก สะท้อนว่า บ้านใหญ่สีแดง ไม่ได้มีการจัดตั้งที่เข้มข้น และกว้างขวาง ยกตัวอย่างกรณี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล สอบตกรอบแรก

 

ตรงกันข้ามกับผู้สมัคร สว.สายบ้านใหญ่สีน้ำเงิน ที่มีผู้สมัคร สว.ได้คะแนนติดอันดับ 1-5 ของทุกกลุ่มอาชีพ และนี่เป็นตัวอย่างรายชื่อผู้สมัคร สว.ตัวเต็ง 

 

บิ๊กเกรียง-พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล)

 

มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง คนใกล้ชิดบ้านใหญ่บุรีรัมย์

 

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีต ผวจ.อ่างทอง คนบ้านเดียวกันกับ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำภูมิใจไทย อ่างทอง

 

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (อนุทิน ชาญวีรกูล) เครือญาติ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

 

สมบูรณ์ หนูนวล อดีตผู้สมัคร สส.ชุมพร พรรคภูมิใจไทย

 

นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา และน้องชาย สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา 

นอกนั้นแล้ว เป็นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงในระดับประเทศ แต่ได้คะแนนนำโด่งในหลายสิบกลุ่มอาชีพ 

 

สว.สีส้มพลาดเป้า


จากข้อมูลในเครือข่ายภาคประชาสังคมพบว่า แกนนำค่ายสีส้ม ได้ตั้งไลน์กลุ่ม “สว.ประชาชน” เป็นศูนย์รวมผู้สมัคร สว.ฝั่งประชาธิปไตย ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ประมาณ 360 คน 

 

ก่อนถึงวันเลือก สว. มีผู้สมัคร สว.บางส่วนรวมตัวกันในนาม “รวมกลุ่ม สว.อิสระ” นัดหมายกันที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. เมื่อ 24 มิ.ย.2567 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำความรู้จักกัน 

 

ส่วนเครือข่ายภาคประชาชน จัดงานสัมมนา “สว.ประชาชน” ที่ห้องจูปิเตอร์เมืองทองธานี โดยผู้ที่เข้าร่วมกว่า 300 คน

 

คืนวันที่ 25 มิ.ย.นี้ มีรายงานข่าวว่า สว.2 กลุ่มข้างต้น รวมตัวกันเป็น “ขั้วประชาธิปไตย” หวังจะแลกคะแนนเสียงสู้กับเสียงจัดตั้ง “บ้านใหญ่” 

 

ปรากฏว่า ในรอบแรก ผู้สมัคร สว.ตัวเต็งขั้วประชาธิปไตย สอบตกหลายคน และที่ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ ก็ได้คะแนนลำดับท้ายๆ โอกาสพลาดการเป็น สว.มีสูง

 

สรุปภาพรวม สว.ขั้วประชาธิปไตย ที่มีโอกาสทะลุเข้าสู่สภาสูง อาจต่ำกว่าการคาดการณ์ของกูรูการเมืองคือ ได้แค่ 15-20 คนเท่านั้น