คอลัมนิสต์

หักหน้า “ทักษิณ” ยึดสภาสูง “สว.สีน้ำเงิน” อหังการ์นายใหญ่อีสานใต้

หักหน้า “ทักษิณ” ยึดสภาสูง “สว.สีน้ำเงิน” อหังการ์นายใหญ่อีสานใต้

27 มิ.ย. 2567

สัญญาณเตือน ทักษิณ บ้านใหญ่สีน้ำเงิน ยึดสภาสูง สมชาย สอบตกช็อกบ้านจันทร์ อหังการ์บ้านใหญ่อีสานใต้ คุม 2 สภาฯ ถือแต้มต่อนายใหญ่

ท้าทายนายใหญ่ ทักษิณ บ้านใหญ่สีน้ำเงิน ยึดสภาสูง สมชาย สอบตกเหลือเชื่อ สัญญาณเตือนบ้านจันทร์ มองข้ามบ้านใหญ่อีสานใต้ไม่ได้

 

ภาพ สว.เสื้อเหลือง สะท้อนพลังอนุรักษนิยม ยังทรงอิทธิพลเหนือสภาสูง เมื่อ สว.สาย คสช.โบกมือลา สว.บ้านใหญ่สีน้ำเงินรับไม้ต่อ ดับฝันค่ายสีส้ม
 

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดที่ 13 สิ้นสุดลงแล้ว หลังกระบวนการเลือก สว.แบบมาราธอนข้ามวัน ใช้เวลากว่า 20 ชั่วโมง ก่อนจะได้รายชื่อว่าที่ สว. ชุดใหม่ 200 คน เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 27 มิ.ย.2567

 

ข่าวใหญ่ช็อกคอการเมืองตั้งแต่รุ่งสาง เมื่อมีข่าว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยของ ทักษิณ ชินวัตร สอบตกอย่างเหลือเชื่อ

 

ทั้งที่กูรูการเมืองทุกสำนักข่าวต่างฟันธงว่า สมชาย สามีเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ถูกวางตัวให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ 
 

อีกด้านหนึ่ง เมื่อสแกนรายชื่อว่าที่ สว. 200 คน ใน 20 กลุ่มอาชีพ พบว่า กว่าร้อยละ 60 เป็นผู้สมัคร สว.ที่มาจากเครือข่าย “บ้านใหญ่สีน้ำเงิน” 
 

ส่วนว่าที่ สว.ที่มาในนาม สว.ประชาชน หรือสื่อบางสำนักเรียกว่า สว.สีส้ม ได้ผ่านเข้าสภาสูงแค่ 26 คน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 67 ที่นั่ง


บ้านสีแดงไร้จัดตั้ง
 

กรณี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ไม่ผ่านด่านบ้านใหญ่สีน้ำเงิน เข้าสู่สภาสูง ย่อมสะเทือนถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า และเป็นสัญญาณเตือนว่า นายใหญ่จะคิดง่าย ทำง่ายไม่ได้แล้ว
 

อย่างเช่นประเด็นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด หรือสั่งให้แบ่งงานใหม่ในกระทรวงมหาดไทย โดยยกกรมพัฒนาชุมชนให้ เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย สายเจ๊แดง ดูแล ทำให้ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย  
 

เมื่อย้อนกลับไปดูผลคะแนนเลือก สว.รอบไขว้ในกลุ่ม 1 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เพียง 10 คะแนนเช่นเดียวกับ ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต สว.มหาสารคาม 2 สมัย ก็ไม่ผ่านเข้ารอบ ติดอันดับสำรอง ในกลุ่ม 14 
 

มินับ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สอบตกรอบแรก สะท้อนว่า บ้านใหญ่สีแดง มิได้ดำเนินการจัดตั้งเพื่อการเลือก สว.อย่างเข้มข้น
 

ประเมินว่า สว.บ้านใหญ่สีแดง บวกกับ สว.สายผู้กองเมืองเหนือ ก็น่าจะประมาณ 20 ที่นั่ง 


สว.สีน้ำเงินผงาด
 

เป็นไปตามความคาดหมาย สว.ชุดใหม่ 200 คน มี สว.สายบ้านใหญ่สีน้ำเงิน ฝ่าด่านรอบเลือกไขว้เข้าสภาสูง ราว 120-130 ที่นั่ง 
 

คนแถวเมืองทองธานี สังเกตความเป็นผู้สมัคร สว.สายบ้านใหญ่สีน้ำเงิน ได้จากการสวมเสื้อเหลือง แสดงสัญลักษณ์แห่งพลังอนุรักษนิยม 
 

ว่าที่ สว.สายบ้านใหญ่สีน้ำเงิน ประกอบด้วยอดีตข้าราชการมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และข้าราชการครู 
 

นอกจากนั้น ก็เป็นนักธุรกิจท้องถิ่น,เกษตรกร,อสม. และผู้นำชุมชน ที่มาจากที่มั่นการเมืองของ “พรรคบ้านใหญ่”
 

ว่าที่ สว.สีน้ำเงิน โดยภาพรวมมาจาก จ.บุรีรัมย์ 14 คน ,สุรินทร์ 7 คน, อยุธยา 7 คน,อ่างทอง 6 คน,สตูล 6 คน,ศรีสะเกษ 5 คน,อุทัยธานี 5 คน,อำนาจเจริญ 5 คน ,เลย 5 คน ,เพชรบุรี 4 คน ฯลฯ

มีข้อน่าสังเกตว่า บ้านใหญ่สีน้ำเงิน ไม่ใช้บริการอดีต สส. หรือนักการเมืองท้องถิ่น จึงทำให้สื่อไม่ค่อยรู้จักบรรดาว่าที่ สว.เหล่านี้มากนัก 

                    


สำหรับบิ๊กเนม สว.สีน้ำเงิน ก็มีจำนวนไม่มาก แต่คาดหมายว่าจะได้ตำแหน่งใหญ่ในสภาสูงชุดใหม่

อาทิ บิ๊กเกรียง-พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล)

มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง และอดีตที่ปรึกษา รมช.มหาด ไทย (ทรงศักดิ์ ทองศรี)

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (อนุทิน ชาญวีรกูล) 

พรเพิ่ม ทองศรี อดีตคณะทำงาน รมช.มหาดไทย (ทรงศักดิ์ ทองศรี)

วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีต ผวจ.อ่างทอง คนใกล้ชิด สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล 

นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา และน้องชาย สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา 

สรุป สว.ชุดใหม่ 200 คน ก็ไม่ต่างจาก สว.ที่แต่งตั้งโดย คสช. เพราะว่าที่ สว.ใหม่ กว่าร้อยละ 60 ของสภาสูงคือ ตัวแทนพลังอนุรักษนิยม