คอลัมนิสต์

เผือกร้อน “ประวิตร” สารตั้งต้นดับไฟ “ทับลาน” อุทยานฯปะทะรากหญ้า

เผือกร้อน “ประวิตร” สารตั้งต้นดับไฟ “ทับลาน” อุทยานฯปะทะรากหญ้า

09 ก.ค. 2567

อีกด้านหนึ่งของ #saveทับลาน ประวิตร คนบ้านในป่า ดับไฟทับลาน แก้ปมขัดแย้งอุทยานฯ-ชาวบ้านกรณีที่ดินทำกิน ตั้งแต่นโยบาย 66/2523

สารตั้งต้น ประวิตร เจ้าสำนักบ้านในป่า อาสาดับไฟทับลาน แก้ปมขัดแย้งอุทยานฯ-ชาวบ้านเรื่องที่ดินทำกิน แต่วันนี้ มีดราม่า #saveทับลาน 

 

วาทกรรมเฉือนป่า มีเรื่องซับซ้อน เพราะอุทยานฯทับลาน ทับซ้อนด้วยปัญหาชาวบ้านเดือดร้อน และนักการเมือง-นายทุนฉวยโอกาสบุกรุกพื้นที่ 

 

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามสื่อ กรณีปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลานว่า เรื่องนี้เป็นมติ ครม.ในรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

นายกฯเศรษฐา ยังบอกว่า เวลานี้ไม่มีแนวคิดจะยกเลิกมติ ครม.ดังกล่าว และอยู่ระหว่างการศึกษา ต้องดูให้ครบขั้นตอนก่อน และเรื่องของ One Map ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาตรงนี้ด้วย

 

ปมดราม่า#saveทับลาน ในชั่วโมงนี้ มาจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

 

ข้อมูลจากฝั่งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชน ระว่า ในเขตพื้นที่อุทยานฯทับลาน มีประชาชน 3 กลุ่ม ที่ตั้งบ้านเรือน และมีที่ดินทับซ้อนกับแนวเขตอุทยานฯ

 

กลุ่มแรก ประชาชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ เมื่อปี 2524 

 

กลุ่มที่สอง ประชาชนที่ได้รับ สปก. และอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ สปก.

 

กลุ่มที่สาม กลุ่มที่เข้ามาหลังประกาศเขตอุทยานฯ และทำให้เกิดคดีความ ซึ่งมีอยู่ 400 กว่าคดี ที่ทางกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่

จากฮีโร่กลายเป็นแพะ

 

“บิ๊กป้อม ไฟเขียวทวงคืนสิทธิพื้นที่ชาวบ้านอุทยานฯทับลาน” พาดหัวข่าวของสื่อบางสำนักช่วงต้นเดือน ก.พ.2566 

 

หลายคนอาจไม่รู้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมัยเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลสํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

 

ปลายปี 2565 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเรื่องการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จึงส่งเรื่องดังกล่าวไปถึงพล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้กำกับดูแล สคทช.

 

วันที่ 14 มี.ค.2566 ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมาและ จ.ปราจีนบุรี 

 

ดังนั้น มติ ครม. 14 มี.ค.66 ก็ต้องการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่รอบเขตอุทยานฯทับลาน 

 

 

หมู่บ้านคอมมิวนิสต์

 

อีกด้านหนึ่งของข้อเท็จจริงจากป่าทับลานคือ ก่อนการประกาศก่อตั้งอุทยานฯทับลาน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.เสิงสาง และ อ.ครบุรี จ.นครราชบุรี 

 

เหนืออื่นใด ช่วงปี 2518-2521 ป่าทับลาน เป็นที่มั่นจรยุทธ์ของพรรคคอมมิว นิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เขตงานอีสานใต้ 

 

 

 

ปี 2523 พคท.เขตงานอีสานใต้ ในพื้นที่ป่าทับลานสลายตัว และกองกำลังติดอาวุธบางส่วน เคลื่อนไปอยู่แถวป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

 

ปี 2528 อดีตทหารปลดแอกฯ และแนวร่วมได้วางอาวุธ ตามคำสั่งนายกฯ 66/2523 แปรสภาพเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” (ผรท.) ซึ่งรัฐบาลเปรม ได้จัดโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อความมั่นคง (พมพ.) มอบที่ดินให้ ผรท.รายละ 15 ไร่

 

จากนั้นก็เกิดปัญหากรณีข้อพิพาทเรื่องของการประกาศพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

 

ทั้งที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าก่อนการจัดตั้งอุทยานฯทับลาน และอดีตสหายอีสานใต้ ที่ได้สิทธิทำกินตามนโยบาย 66/2523

 

นี่คือสารตั้งต้น ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงให้ลุงป้อม แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน ระหว่างอุทยานฯทับลาน กับชาวบ้าน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปี