คอลัมนิสต์

ย้อนรอย 34 ปี “เฉลิม” สัมพันธ์ “ทักษิณ” ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น

ปฐมบทละครฉากใหม่บ้านริมคลอง-บ้านป่ารอยต่อฯ ย้อน 34 ปี สัมพันธ์ เฉลิม-ทักษิณ จากสัมปทานเคเบิลทีวี สู่ดีลการเมือง 20 ปี มีทั้งรักทั้งชัง

34 ปีแห่งความหลัง เฉลิม-ทักษิณ แยกทางกันอีกรอบ ย้อนเส้นทางสัมพันธ์ 2 ตระกูล จากดีลธุรกิจ สู่ดีลการเมือง มีทั้งรักทั้งชัง ทั้งหวานและขมขื่น

 

สัมพันธ์บ้านริมคลอง-ทหารเก่า 20 กว่าปีที่แล้ว เฉลิมเคยพาลูกชายซบบิ๊กจิ๋ว และวันนี้ ขุนศึกฝั่งธนฯ พาทายาทไปซุกปีกลุงป้อม บ้านในป่า 

 

ตามนัดหมาย บ่าย 2 โมงวันที่ 23 ก.ค.2567 วัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย จะเดินทางเข้าไปบ้านป่ารอยต่อฯ เพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

 

เนื่องจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มุดเข้าบ้านป่ารอยต่อฯ เปิดดีลพิเศษกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

 

จริงๆแล้ว บทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม ในพรรคเพื่อไทย ได้ลดลงเป็นลำดับ นับแต่หลังเลือกตั้งปี 2566 และนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร กลับถึงเมืองไทย พร้อมกับดีลลับลังกาวี และการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้ว  

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะพบว่า ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่ถนนการเมืองก่อน ร.ต.อ.เฉลิม โดยหลังเลือกตั้งปี 2518 ทักษิณได้เป็นเลขานุการ ปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลคึกฤทธิ์

 

ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ลงสมัคร สส.กรุงเทพฯ ครั้งแรกปี 2526 ในนามพรรค ปชป. ก่อนที่ลาออกมาตั้งพรรคมวลชน เป็นของตัวเอง 

 

ปัจจุบัน ร.ต.อ.เฉลิม ในวัย 77 ปี มีสถานะเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่หัวใจไปอยู่กับลุงป้อมเรียบร้อยแล้ว

 

34 ปีแห่งความหลัง

 

 

ปี 2532 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน ที่มี สส.อยู่ 3 คน ได้เข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท.

 

สมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม เรืองอำนาจในรัฐบาลชาติชาย ทักษิณยังเป็นนักธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง

 

ทักษิณเริ่มทำธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการนำวิทยุติดตามตัว(Pager) ยี่ห้อ Phonelink เข้ามาจำหน่าย และเป็นผู้บุกบุกเคเบิลทีวีรายแรกของเมืองไทย

 

ปี 2533 ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท. ได้อนุมัติให้บริษัท IBC เคเบิลทีวี ของทักษิณ ได้สัญญาสัมปทานเคเบิลทีวี โดยเจ้าของสัมปทานคือ อสมท.

หลังเกิดรัฐประหาร 2534 เฉลิมไปลี้ภัยที่เดนมาร์ก เป็นเวลาเกือบปี ก่อนจะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้ง 13 ก.ย.2535

 

ช่วงที่ทักษิณ เล่นการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรม ร.ต.อ.เฉลิมก็โลดแล่นไปตามวิถีขาใหญ่ ต่างคนต่างเดิน 

 

เวลานั้น แม้ทักษิณ จะถูกยกย่องให้เป็นอัศวินคลื่นลูกที่สาม นักธุรกิจโทรคมนาคม ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่ก็ยังเป็นละอ่อนทางการเมืองในสายตาของเฉลิม

 

ปี 2539 ร.ต.อ.เฉลิมหันไปคืนดีกับ พล.อ.ชวลิต ร่วมเป็นพันธมิตรทางการ เมืองสู้ศึกเลือกตั้ง จนทำให้พ่อใหญ่จิ๋ว เป็นนายกฯ

 

 

ทั้งหวานและขมขื่น

 

 

การเลือกตั้งปี 2544 ภายใต้กติกาใหม่รัฐธรรมนูญ 2540 ดาวสภาฝั่งธนฯ ทิ้งพรรคมวลชน กระโดดเข้าร่วมงานกับพรรคความใหม่

 

เมื่อทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต จึงนำพรรคความหวังใหม่ เข้าควบรวมกับพรรคไทยรักไทย โดยบิ๊กจิ๋ว ได้ตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม

 

ตอนนั้น มีข่าวว่า ทักษิณไม่ปลื้มเฉลิม จึงไม่ได้ให้ตำแหน่งใดๆ ในคณะรัฐบาล อันเป็นช่วงเวลาที่ “น้าเหลิม” หายไปการเมืองไทยพักใหญ่

 

ปี 2544 บิ๊กจิ๋ว ในฐานะ รมว.กลาโหม เป็นคนลงนามอนุมัติให้ ดวง อยู่บำรง ลูกชายคนเล็กของเฉลิม เข้าเป็นนายทหารสังกัดสำนักงานเลขานุการ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2544

 

กลางปี 2547 เมื่อ ดวง อยู่บำรุง เป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีดาบยิ้ม จึงมีคนเห็น ร.ต.อ.เฉลิม เดินทางไปพบทักษิณ ที่ทำเนียบรัฐบาล 

 

กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ทักษิณกลายเป็นผู้ลี้ภัย ร.ต.อ.เฉลิม จึงได้อาสามาเป็นแม่ทัพให้พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย 

 

“น้าเหลิม” กลับมาผงาดอีกครั้ง ภายใต้ร่มเงาชินวัตร ได้เป็น รมว.มหาดไทย รัฐบาลสมัคร และเป็นรองนายกฯ กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

ทั้งหมดนี้ สะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณและเฉลิม ตั้งแต่ดีลธุรกิจเคเบิลทีวี จนถึงดีลการเมืองยุคสมัคร-ยิ่งลักษณ์

ข่าวยอดนิยม