คอลัมนิสต์

ส้มทั้งเมืองโอ่ง “ทิม พิธา” ผนึก “เท้ง ณัฐพงษ์” บีบกำนันตุ้ยปลุกเหลือง

ส้มทั้งเมืองโอ่ง “ทิม พิธา” ผนึก “เท้ง ณัฐพงษ์” บีบกำนันตุ้ยปลุกเหลือง

17 ส.ค. 2567

มังกรเมืองโอ่ง "ทิม-เท้ง" ลุยเพื่อชัยชนะหนแรก ปักธง อบจ.ราชบุรี แรงแค้นยุบพรรคบีบบ้านใหญ่ ปลุกเหลืองต้านส้ม

ศึกราชบุรี ทิม-เท้ง ลุยหนักเพื่อชัยชนะหนแรก ในนามพรรคประชาชน แรงแค้นสีส้มบีบบ้านใหญ่ หลังพิงฝาสู้รักษาพื้นที่

 

มังกรเมืองโอ่ง กำนันตุ้ย ขาสั่นหวั่นไหว ต้องอาศัย สส.สายลุงป้อม-ลุงตู่ 5 เขต ตรึงฐานเสียง ปลุกเหลืองต้านส้ม

 

ช่วงเทศกาลสารทจีน 17-18 ส.ค.2567 มังกรหนุ่ม ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมกรรมการบริหารพรรค และ สส.ตะลุยหาเสียงช่วย หวุน-ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี

 

เนื่องจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี วันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย. 2567 คือสมรภูมิแรก ที่จะพิสูจน์พลังส้มเมืองโอ่ง หลังการยุบพรรคก้าวไกล

ดังนั้น ชาวบ้านแถวโพธาราม จอมบึง สวนผึ้ง , ดำเนินสะดวก บ้านโป่ง และตัวเมืองราชบุรี จึงได้เจอตัวเป็นๆของแกนนำสีส้ม ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ มาเดินหาเสียงเคาะประตูบ้าน

 

เย็นวันเสาร์ที่ 17 ส.ค.นี้ ทีมก้าวไกลเมืองโอ่ง เปิดเวทีปราศรัยที่ตลาดริมน้ำ หอนาฬิกา เมืองราชบุรี มีทั้งหัวหน้าเท้ง อดีตหัวหน้าทิม และอดีตหัวหน้าต๋อม ขึ้นเวทีพร้อมกัน

 

มองภาพรวมการหาเสียงของเครื่องจักรสีส้มอย่างเป็นระบบ ย่อมทำให้ทีมบ้านใหญ่ นิติกาญจนา กรุ๊ปต้องกุมขมับเหมือนกัน

 

4 ปีที่แล้ว กำนันตุ้ย วิวัฒน์ นิติกาญจนา ได้รับการหนุนช่วยจากบ้านบ้านใหญ่ทุกซุ้ม แต่ปีนี้ ดูเหมือนบ้านใหญ่สายภูมิใจไทย จะใส่เกียร์ว่าง

พิธา ปลุกคนราชบุรี กลับบ้าน 1 ก.ย.

เปิดจุดอ่อนสีส้ม

 

เย็นวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.นี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จัดอีเวนท์หาเสียงนั่งรถไฟจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มุ่งตรงสถานีราชบุรี ซักซ้อมแคมเปญ #ราชบุรีกลับบ้านเกิด เพื่อมากาเบอร์ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.นี้

 

สาเหตุที่ทิม พิธา ต้องเปิดแคมเปญนี้ ก็เพราะเลือกตั้งนายก อบจ. จะไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งข้ามเขต หากคนเมืองโอ่งพลัดถิ่นพลัดบ้าน อยากเลือกผู้สมัครสีส้ม ต้องกลับไปเข้าคูหาเลือกตั้งที่บ้านเกิดเท่านั้น

 

นี่คือ จุดอ่อนของพรรคประชาชน ที่อาศัยกระแส ไม่มีกระสุน รวมถึงคณะก้าวหน้า ที่ลุยการเมืองท้องถิ่น เมื่อปี 2563 แพ้ทุกสนาม อบจ.

 

ประการแรก การเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า อย่างเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกล เป็นแชมป์บัญชีรายชื่อ 233,608 คะแนน ซึ่งในนี้ เป็นคะแนนที่มาจากการเลือกล่วงหน้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

 

ประการที่สอง ธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ.หรือเทศบาล มักจะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าเลือกผู้แทนฯ

 

ยกตัวอย่างเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ปี 2563 มีผู้มีมาใช้สิทธิ์ 454,931 คน คิดเป็นร้อยละ 68.15 ขณะที่การเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปีที่แล้ว คนราชบุรีมาใช้สิทธิ์ 565,364 คน คิดเป็นร้อยละ 82.84

 

รวมพลังบ้านใหญ่

 

แม้กำนันตุ้ย-วิวัฒน์ นิติกาญจนา จะได้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดการเจรจาให้ วันชัย ธีระสัตยกุล อดีตนายก อบจ.ราชบุรี 3 สมัย ถอนตัวไปได้

 

ปรากฏการณ์ยุบก้าวไกล กระตุกพลังสีส้มให้เข้าคูหาไปเลือกเสี่ยหวุน ผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี พรรคประชาชน ส่งผลให้ทีมงานกำนันตุ้ย เริ่มปลุกพลังเสื้อเหลือง

 

การเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ทั้งปี 2562-2566 กระแสพรรคลุง ยังมาแรง จึงทำให้ สส.เขตเป็นของพลังประชาชน และรวมไทยสร้างชาติ ด้วยคนเมืองโอ่งจำนวนไม่น้อย เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส.

 

อย่างไรก็ตาม กำนันตุ้ย ได้ สส.ราชบุรี ทั้ง 5 คน เป็นกองหนุน เขต 1 อ.เมืองราชบุรี สส.แคมป์-กุลวลี นพอมรบดี (รทสช.)

 

เขต 2 อ.ปากท่อ และ อ.สวนผึ้ง บุญยิ่ง นิติกาญจนา หวานใจกำนันตุ้ย (พปชร.)

 

เขต 3 อ.จอมบึง และ อ.โพธาราม สส.จิ๊ก-จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ (พปชร.)

 

เขต 4 อ.บ้านโป่ง สส.มุ่ง-อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ (รทสช.)

 

เขต 5 อ.ดำเนินสะดวก และ อ.บางแพ สส.เส็ง-ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ (พปชร.)

 

นาทีนี้ สส.เส็ง เป็นแม่ทัพคนสำคัญของกำนันตุ้ย และมีเดิมพันสูงต้องปลุกพลังอนุรักษ์นิยมสู้กระแสส้ม