คอลัมนิสต์

พายุสีส้ม “ธนาธร” สนามแรกยึด อบจ.ราชบุรี “กำนันตุ้ย” บ้านใหญ่ส่อร่วง

เบื่อการเมืองน้ำเน่า ส้มมาแรง "ธนาธร" มั่นใจปักธง อบจ.ราชบุรี ปัจจัยชี้ขาด คนใช้สิทธิ์เกิน 60% "กำนันตุ้ย" แพ้ขาด

เมืองโอ่งสีส้ม ธนาธร มั่นใจปักธง อบจ.ราชบุรี เศรษฐกิจฟุบ เบื่อการเมืองน้ำเน่ากำนันตุ้ยเสี่ยงพ่ายสูง

 

ปัจจัยชี้ขาด ธนาธร-พิธา ระดมคนราชบุรี กลับบ้านไปเลือกตั้งนายก อบจ. หากคนใช้สิทธิ์เกิน 60% ส้มชนะขาด

 

โค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี วันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.2567 พรรคประชาชน เปิดแคมเปญ “1 กันยา คนราชบุรีกลับบ้าน” พร้อมยกทัพหาเสียงช่วย “หวุน” ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี

ในวันที่ 30 ส.ค. 2567 จะมีการปราศรัยใหญ่หาเสียงครั้งสุดท้ายของพรรคประชาชนที่ตลาดสราญยามเย็น ริมน้ำบ้านโป่ง จ.ราชบุรี นำทีมโดย “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญา , ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชัยธวัช ตุลาธน และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

นี่เป็นครั้งแรกที่ 4 แกนนำเบอร์ใหญ่ค่ายสีส้ม ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงพร้อมกัน เพราะสมรภูมินายก อบจ.ราชบุรี มีเดิมพันสูง และเป็นสมรภูมิแรก ที่จะพิสูจน์พลังส้มเมืองโอ่งมังกร หลังการยุบพรรคก้าวไกล

 

หากพรรคประชาชนไม่ชนะในสนามท้องถิ่นราชบุรี ก็เท่ากับปลุกผีซุ้มบ้านใหญ่ ให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับค่ายสีส้มในเวทีเลือกตั้ง สส.ปี 2570

ธนาธร ลุยหาเสียงช่วย หวุน ชัยรัตน์ แถว อ.จอมบึง และ อ.สวนผึ้ง

ราชบุรีต้องเปลี่ยน

 

“หวุน” ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ เป็นคน อ.บ้านโป่ง แต่มาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและโรงแรมสมัยใหม่ ในเขต อ.เมืองราชบุรี ส่วนมีมารดาเป็นนักธุรกิจชาว อ.จอมบึง และเป็นอดีต สจ.จอมบึง

 

ในแง่ตัวบุคคล คนราชบุรีอาจไม่รู้จักชัยรัตน์มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตนายก อบจ.ราชบุรี แต่ด้วยกระแสพรรคประชาชน ทำให้คนเมืองโอ่งเริ่มตื่นตัวที่จะเข้าคูหาไปเลือกหวุน ชัยรัตน์

 

จุดอ่อนของค่ายสีส้มคือ การเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า อย่างเช่นเลือกตั้ง สส.ราชบุรี ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกล เป็นแชมป์บัญชีรายชื่อ 233,608 คะแนน ซึ่งในนี้ เป็นคะแนนที่มาจากการเลือกล่วงหน้าหรือเลือกตั้งนอกเขตรวมอยู่ด้วย

 

อีกด้านหนึ่ง ธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ.หรือเทศบาล มักจะมีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าเลือกผู้แทนฯ

 

ปี 2563 เลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี มีผู้มีมาใช้สิทธิ์ 454,931 คน คิดเป็น 68.15% แต่ปีที่แล้ว คนราชบุรีมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สส.จำนวน 565,364 คน คิดเป็น 82.84%

 

อย่างไรก็ตาม ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตร์ ป.โท ม.รังสิต ที่รู้จักกันในนามอาจารย์ธำรงศักดิ์โพล ได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ว่า กำนันตุ้ย จะชนะเป็น นายก อบจ.อีกสมัย ถ้าคนราชบุรีมาใช้สิทธิ์ 50% และถ้าคมาใช้สิทธิ์มากกว่า 60% ขึ้นไป หวุน-ชัยรัตน์ ชนะ

 

บ้านใหญ่เสี่ยงพ่ายสูง

 

ชั่วโมงนี้ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา ประมุขนิติกาญจนากรุ๊ป ออกอาการหวั่นไหวต่อกระแสสีส้ม จึงระดมทีมงานหาเสียงแบบเข้มข้น

 

ซุ้มบ้านใหญ่ฟาร์มหมูวังมะนาว ยังมีความมั่นใจในทีมงาน สจ.สังกัดกลุ่มพัฒนาราชบุรี ที่มีความชำนาญในกลยุทธ์หาคะแนน

 

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี เกิดปรากฏการณ์ช้างล้ม-ส้มชนะ

 

ประการแรก เศรษฐกิจฟุบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาปากท้องของรัฐบาลปัจจุบัน

 

ประการที่สอง กำนันตุ้ย เป็นนายก อบจ.ราชบุรี มา 1 สมัย ไม่มีผลงานที่เด่นชัด ชาวบ้านรู้สึกเบื่อการทำงานแบบเดิมๆ

 

ประการที่สาม คนราชบุรีในปีกอนุรักษนิยมจำนวนไม่น้อย ที่เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะชื่นชอบลุงตู่ แต่กำนันตุ้ย สังกัดค่ายลุงป้อม ชาวบ้านไม่ชอบ

 

ประการที่สี่ สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ และการคืนดีกันของพรรคทักษิณ-ปชป. ส่งผลให้ชาวราชบุรี เกิดความเบื่อหน่ายการเมืองน้ำเน่า

 

มาถึงโค้งสุดท้าย กำนันตุ้ยมี “กระแส” ตกเป็นรองพรรคประชาชน และมีโอกาสจะเสี่ยงพ่ายสูงมาก

 

ข่าวยอดนิยม