คอลัมนิสต์

เปิดหน้าชน “ภูมิธรรม” ค้านกุมกลาโหม ชื่อ “สหายใหญ่” ของแสลงขั้วขวาจัด

เปิดหน้าชน “ภูมิธรรม” ค้านกุมกลาโหม ชื่อ “สหายใหญ่” ของแสลงขั้วขวาจัด

01 ก.ย. 2567

ทหารเก่า สว.ตัวตึงค้าน “ภูมิธรรม” นั่งกลาโหม ชื่อสหายใหญ่ แสลงใจ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ขุดอดีตสหายคนเดือนตุลา

เปิดหน้าค้าน ภูมิธรรม นั่งกลาโหม อดีต สว.ตัวตึงรับไม่ได้ สหายใหญ่ คุมกองทัพ ถามนายกฯหญิง ไยไม่แคร์หัวอกทหาร

 

อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เล่าประสบการณ์ตรง สมัยต่อสู้คอมมิวนิสต์อีสานใต้ เฉพาะการห้ำหั่นกับนักศึกษารุ่น 14 ตุลา และ 6 ตุลา

 

พลันที่มีความชัดเจน ภูมิธรรม เวชยชัย จะได้นั่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม ปรากฏว่าในโซเชียลปีกกลุ่มอนุรักษนิยม เริ่มมีความเคลื่อนไหวคัดค้านการเข้ามาคุมกองทัพของอดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา 

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2567 แฟนเพจเฟซบุ๊คสถาบันทิศทางไทย-Thai Move Institute ได้นำเสนอความเห็นของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต สว.ตัวตึง เกี่ยวกับการแต่งตั้งภูมิธรรมหรือสหายใหญ่ เป็น รมว.กลาโหม

 

“อุ๊งอิ๊ง ไม่ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของทหาร” พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เปิดประเด็นต้านสหายใหญ่อย่างตรงไปตรงมา

 

แหล่งข่าวในกลุ่มอดีต สว.ชุด คสช.เปิดเผยว่า ผู้จุดประกายที่ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ ต้องลุกขึ้นมาค้านสหายใหญ่นั้น มาจากบันทึกความทรงจำของ พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ ที่เผยแพร่ในไลน์กลุ่มอดีต สว. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2567

 

พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และอดีต สว. ได้เขียนบันทึกเรื่องกรณีเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อความมั่นคงในอีสานใต้ ห้วงปี 2520-2525

 

ดูเหมือนว่า พล.อ.สนั่น ตั้งใจเขียนถึง “กลุ่ม นศ.เข้าป่า” เป็นการเฉพาะ “มีหลายเรื่องที่เป็นประสบการณ์จริง ที่ผมพบเห็นและเผชิญด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นทั้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่อีสานใต้และเป็นผู้ปฏิบัติการด้วยตนเอง”

 

สืบเนื่องจากหลัง 6 ต.ค.2519 ภูมิธรรม เวชยชัย และเพื่อนนักศึกษาหลายร้อยคนได้หลบหนีภัยเผด็จการเข้าป่าอีสานใต้ 

 

มือปราบคอมฯอีสานใต้

 

เมื่อปี 2520-2521 พล.อ.สนั่น รับราชการอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และเป็นผู้บังคับกองพัน รับผิดชอบปฏิบัติการอยู่ชายแดน อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์

 

ช่วงนั้น มีการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายละหานทราย-ตาพระยา จึงมีการปะทะกันกับกลุ่มคอมมิวนิสต์อีสานใต้อยู่เป็นประจำ

 

พล.อ.สนั่น บอกว่า “กลุ่ม นศ.14 ตุลานี้  ได้ร่วมปฏิบัติการกับเขมรแดงในกัมพูชาไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อเขมรแดงหมดอำนาจในปี 2522 ได้ขึ้นมาปฏิบัติการกับ ผกค.ไทยบริเวณชายแดนบุรีรัมย์และพื้นราบเชิงเขา อีก 4-5 ปี นศ.เหล่านี้มิได้ออกมามอบตัว ตามคำสั่ง 66/23 ส่วนใหญ่หนีออกไปเรียนหนังสือต่อจนจบทุกคน”

 

ประเด็นเกี่ยวกับ “สหายใหญ่” อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 กลับให้ข้อมูลว่า “มีสหายบางคนหนีไปเป็นคอมฯ อยู่ในลาว จากดาวแดงไปเป็นดาวเขียว เช่น สหายใหญ่ (ต่อมามีผู้มีอิทธิพลไปชักชวนให้มาเข้าพรรคช่วยงานการเมืองตราบถึงปัจจุบัน)...”

 

ในบันทึกเหตุการณ์ของ พล.อ.สนั่น ได้เล่าเรื่องราวยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อีสานใต้อีกหลายเหตุการณ์ และทิ้งท้ายว่า “เป็นเหตุการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ อาจลืมไปหมดแล้ว แต่ผมมิมีวันลืม”

 

หลักฐานเชิงประจักษ์

 

ตอนท้ายบทบันทึกของ พล.อ.สนั่น ได้กล่าวถึงการสร้างอนุสรณ์สถานของกลุ่ม นศ.เดือนตุลา ที่เขตอีสานใต้

 

“หลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ได้ถึงการต่อสู้ของ กลุ่มนศ.เดือนตุลา ในปัจจุบัน คือ อนุสรณ์สถานแห่งการต่อสู้ และระลึกถึงของ พคท. ในภาคอีสาน มิได้สร้างขึ้นในเทือกเขาภูพานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ยังมีบริเวณรอยต่อ จ.นครราชสีมา กับบุรีรัมย์  ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆชื่อบ้านโคกเขาหญ้าคา ต.โคกมะม่วง อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์”

 

อนุสรณ์สถานที่ พล.อ.สนั่น เขียนถึงนั้นหมายถึง “อนุสรณ์สถาน วีรชน-ประชาชน อีสานใต้” ก่อสร้างโดยกลุ่มนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธทางเขตงานอีสานใต้ ในนามสโมสร 19

 

“บรรดา นศ.เดือนตุลา จะรู้ดีทุกคน สร้างเป็นสถูปไม่ใหญ่โต บรรจุอะไรไว้ก็ไม่รู้ แต่ นศฺ.กลุ่มตุลา จะวนเวียนไปเยี่ยมเยียนเป็นอนุสรณ์อยู่มิได้ขาด ตราบถึงปัจจุบัน  มีนายทุนใหญ่ระดับประเทศ สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้มิได้ขาด  อยากรู้มากกว่านี้ ต้องไปดูและพิสูจน์ด้วยตัวเอง”

 

นั่นคือข้อสังเกตของอดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ต่ออนุสรณ์สถานของสหายอีสานใต้ ซึ่งเป็นเขตงานเดิมของสหายใหญ่ หรือภูมิธรรม เมื่อ 47 ปีที่แล้ว