บทเรียนส้มพ่าย “ธนาธร” เผชิญ “พิษณุโลกโมเดล” ภาพลวงลัทธิบ้านใหญ่
เอฟเฟกต์ส้มแพ้ “ธนาธร” เผชิญ “พิษณุโลกโมเดล” ปลุกขวัญ “แพทองธาร” ส่อง อบจ.13 จังหวัด บ้านใหญ่ชนะรวด
รุมกินโต๊ะ ธนาธร ชูพิษณุโลกโมเดลข่มค่ายส้ม ปลุกขวัญแพทองธาร เจาะลัทธิบ้านใหญ่ ภาพจริงหรือภาพลวง
บทพิสูจน์สนาม อบจ. 13 จังหวัด คือชัยชนะของบ้านใหญ่ พรรคประชาชนจะสู้ต่ออย่างไร สนามเลือกตั้ง สส.สมัยหน้า กระแสส้มจะมาหรือไม่
ชัยชนะของ “บู้” จเด็ศ จันทรา และพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งประเทศ
ฝั่งเพื่อไทย ต่างประโคมข่าวชัยชนะ และมอบเป็นของขวัญให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำทางจิตวิญญาณพลพรรคสีส้ม ยังปิดปากเงียบท่ามกลางวาทกรรมแพ้แล้ว แพ้อีก ที่ดังมาจากฝั่งอนุรักษนิยม
ตรงกันข้ามกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ถอดบทเรียนความพ่ายแพ้ มาจากการผนึกกำลังกันของ “ชนชั้นนำ 3 ฝ่าย” ต้านพรรคประชาชน เรียกว่า “พิษณุโลกโมเดล” ที่จะมีการขยายผล ในการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศ
“พิษณุโลกโมเดล” ก็คือการรวมพลังของนักการเมืองบ้านใหญ่ ซึ่งธนาธร ในนามคณะก้าวหน้า ประกาศจะล้มบ้านใหญ่ มาตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2563 แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
ชัยชนะบ้านใหญ่พิดโลก
พูดกันตรงไปตรงมา “บู้” จเด็ศ จันทรา ชนะเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ปัจจัยหลัก ไม่ได้มาจากกระแสแพทองธาร
ปัจจัยชี้ขาดคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ประสาน “บ้านใหญ่” 2 ซุ้มมาหนุนบู้ จเด็ศ
คือ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก และ เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก
เลือกตั้ง สส.พิษณุโลก ปี 2566 มนต์ชัย ส่งลูกชาย อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ สวมเสื้อพลังประชารัฐ และเปรมฤดี ก็ส่งลูกสาว ณัฐทรัชต์ ชามพูนท สวมเสื้อเพื่อไทย
เมื่อนำคะแนนของลูกมนต์ชัย 19,096 คะแนน บวกกับลูกสาวเปรมฤดี 18,180 คะแนน ตัวเลขก็ใกล้เคียงคะแนนของบู้ จเด็ศ ที่ได้จากการเลือกตั้งซ่อม 15 ก.ย.2567
หากมีการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก ปี 2570 โมเดลบ้านใหญ่รวมตัวกันแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
มนต์ชัย นายก อบจ.พิษณุโลก อาจส่งลูกชาย อดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ สวมเสื้อพรรคใดพรรคหนึ่งลงสนามแข่งกับเพื่อไทยก็เป็นได้
เหมือนปี 2566 มนต์ชัย จับมือสันติ พร้อมพัฒน์ จัดทีมผู้สมัคร สส.เมืองสองแควทั้ง 5 เขต ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐ ชนเพื่อไทย ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ
ลัทธิบ้านใหญ่
จะว่าไปแล้ว ลัทธิบ้านใหญ่ หรือการรวมตัวของนักการเมืองบ้านใหญ่ อาจเกิดขึ้นได้กับการเมืองท้องถิ่น มากกว่าการเมืองระดับชาติ
ปีนี้ ทุนท้องถิ่นเริ่มตระหนักถึงกระแสสีส้ม จึงมีภาพนายก อบจ.หลายจังหวัด ลาออกก่อนครบวาระ ชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ที่สำคัญ พรรคประชาชนเจอกลเกมชิงลาออก ตั้งตัวไม่ทัน จึงไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ลงสนาม ยกเว้นสนามราชบุรี
ปี 2567 มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนครบวาระ 13 จังหวัด ปรากฏว่า ซุ้มบ้านใหญ่ยังยึด อบจ.ไว้ได้ทุกจังหวัด
ไม่นับสนาม อบจ.ปทุมธานี กกต.แจกใบเหลือง เลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.นี้ ชาญ พวงเพ็ชร์ และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ต้องสู้กันใหม่
ชัยธวัช เนียมศิริ นายก อบจ.เลย ตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย
พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ สายตรงชาดา ไทยเศรษฐ์
สุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง ตัวแทน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา บ้านใหญ่วังน้อย
จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายก อบจ.ชัยนาท ตัวแทน อนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ
ธวัช สุทธวงค์ นายก อบจ.พะเยา พรรคเพื่อไทย ตัวแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
สุรีวรรณ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยภูมิ ตัวแทน สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลก ที่ไม่มีบ้านใหญ่หลังไหนแข่งด้วย
วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี กลุ่มพัฒนาราชบุรี สายตรง ร.อ.ธรรมนัส
นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร ตัวแทน “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร ลงสนามชนิดไร้คู่แข่ง
วิเชียร สมวงศ์ นายก อบจ.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มบ้านใหญ่เมืองบั้งไฟ มีคู่แข่งก็เหมือนไม่มี
เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี กลุ่มคุณธรรม สายตรงชาดา ไทยเศรษฐ์ และเป็นสมัยที่ 2 ที่เผด็จลงสนามแบบไร้คู่แข่ง