คอลัมนิสต์

ส่องลึก “พันศักดิ์” นักฝันคู่ใจ “ทักษิณ” สายล่อฟ้าต้นขั้วระบอบทักษิณ

19 ก.ย. 2567

18 ปี รัฐประหาร 19 กันยา รู้จัก “พันศักดิ์” เจ้าตำรับ “ระบอบทักษิณ” ย้อนรอยกุนซือสายล่อฟ้า ยึดอำนาจ 3 นายกฯ

รู้ลึก พันศักดิ์ นักคิดคู่ใจทักษิณ เจ้าตำรับทักษิโณมิกส์ ย้อนอดีตกุนซือสายล่อฟ้าโดนรัฐประหารทั้ง 3 นายกฯ

 

กึ่งศตวรรษ พันศักดิ์ นักฝันนอกกรอบ จากสมัยสงครามเย็น สู่รัฐบาลทักษิณ มาถึงยุคดีลข้ามขั้วรัฐบาลแพทองธาร

 

วันที่ 19 ก.ย.2567 ครบรอบ 18 ปี คณะทหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลทักษิณ บังเอิญจังหวะนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่นำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์

การดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯ ของพันศักดิ์ ในครั้งนี้ ต้องบันทึกไว้ว่า เขาเป็นเจ้าของสถิติประธานที่ปรึกษา 4 นายกฯ (ชาติชาย 2531-2534,ทักษิณ 2544-2549,ยิ่งลักษณ์ 2554-2557 และแพทองธาร)

 

ที่ผ่านมา พันศักดิ์มักได้ฉายาว่า “จอมยุทธ์หูกระต่าย” มองจากรสนิยมการแต่งกาย แต่ก็ได้ชื่อเป็น “กุนซือสายล่อฟ้า” เพราะเขาเป็นที่ปรึกษานายกฯ 3 คน ก็โดนรัฐประหารทั้ง 3 ครั้ง

 

พันศักดิ์เป็นนักคิดที่ทักษิณ ชินวัตร รับฟังมากที่สุด เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญเช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน(Dual Track) หรือ “ทักษิโณมิกส์”

 

จะว่าไปแล้ว พัฒนาการทาง “ความคิด” ของพันศักดิ์ มาจากการตกผลึกที่สำคัญจากความต่อเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ปะทุมา ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 ก่อนจะตกผลึกและพัฒนาไปใน Globalization

ที่มาของฉายา กุนซือหูกระต่าย

จากซ้ายไทยสู่โลกาภิวัตน์

 

มันสมองแห่งชาติของทักษิณคนนี้ มีบิดาเป็นนายแบงก์ จึงมีไลฟ์สไตล์แบบปัญญาชนหัวนอก

 

ประยูร วิญญรัตน์ บิดาของพันศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ รุ่นเดียวกับนายชิน โสภณพนิช ทั้งพี่เขยและพี่ชายก็เป็นผู้บริหารระดับสูงมากๆ ที่ธนาคารกรุงเทพ

 

พันศักดิ์ทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกรุงไทย ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะเริ่มอาชีพนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World และสำนักข่าวต่างประเทศ

 

ต่อมา พันศักดิ์ยังเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “จัตุรัส” รายสัปดาห์ ที่ได้รับความนิยมจากปัญญาชนในยุคสงครามเย็น

 

ช่วงปี 2518-2519 จตุรัสรายสัปดาห์ กลายเป็น นสพ.ฝ่ายซ้าย หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 จัตุรัสถูกสั่งปิด พันศักดิ์ถูกจับติดคุกในฐานะบรรณาธิการ และได้รับการปล่อยตัว เขาหนีภัยเผด็จการไปอยู่สหรัฐฯ 2 ปี

 

ปี 2531 สมัยรัฐบาลชาติชาย พันศักดิ์เป็นประธานทีมที่ปรึกษานายกฯ หรือทีมบ้านพิษณุโลก แนวคิดที่สำคัญของพันศักดิ์ในขณะนั้นคือ การเสนอยุทธศาสตร์เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

 

หลังรัฐประหาร 2534 พันศักดิ์ไปอยู่อังกฤษพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำหนังสือพิมพ์ ASIA TIMES ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพฯ

 

สร้างโอกาสให้ไพร่

 

หลังวิกฤติฟองสบู่ 2540 เศรษฐกิจชั้นชั้นนำ ชนชั้นกลางล่มสลาย พันศักดิ์ทิ้งอาชีพหนังสือพิมพ์ หันไปศึกษาเอสเอ็มอีโมเดล (SME Model)

 

“คนอื่นอาจจะคิดว่า การยื้อแย่งอำนาจรัฐก็เพื่อแบ่งสินทรัพย์ของรัฐ แต่สำหรับผม คือการสร้างโอกาสให้ไพร่ มีโอกาสในชีวิตที่ค่อนข้างจะเท่าเทียมกัน เวลาเราพูดอย่างนี้ถูกมองว่าซ้าย”

 

วาทกรรม “สร้างโอกาสให้ไพร่” ของพันศักดิ์นั้น มาก่อนคำว่า “ประชานิยมเพื่อคนรากหญ้า” ของทักษิณ ชินวัตร

 

รูปธรรมของสร้างโอกาสให้ไพร่ของพันศักดิ์ มีหลายนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นโอท็อป,เอสเอ็มอี,แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ฯลฯ

 

นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนที่โดดเด่นคือ ส่งเสริมให้มีการผลิตสุราแช่ชนิดสุราผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง และสุรากลั่น

 

 

ช่วงปี 2545-2547 มีโรงงานสุราชุมชนเกิดขึ้นมากมาย มีผลิตภัณฑ์สุรา ทั้งสุราแช่ สุราหมัก ไวน์ และอื่นๆ

 

หลังทหารยึดอำนาจ 2549 พันศักดิ์เร้นกายหายไปจากเมืองไทยอยู่พักใหญ่ กระทั่งมีรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เขาก็แอบมาช่วยงานรัฐบาลสมัครแบบเงียบๆ

 

จวบจน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพันศักดิ์เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า นายกฯแพทองธาร จะรับฟังทีมงาน รวมทั้งมีบุคลิกอ่อนน้อม ใจเย็น เลือกที่จะรับฟังผู้อื่นก่อนตัดสินใจ ซึ่งการตั้งทีมกุนซือผู้อาวุโสที่นำโดยพันศักดิ์ ย่อมจะมีประโยชน์แก่นายกฯหญิง