คอลัมนิสต์

เอาชนะบ้านใหญ่ “ณัฐพงษ์” ลงลึกพรรคมวลชน “ศรายุทธิ์” คุม 8 แม่ทัพภาค

เอาชนะบ้านใหญ่ “ณัฐพงษ์” ลงลึกพรรคมวลชน “ศรายุทธิ์” คุม 8 แม่ทัพภาค

24 ก.ย. 2567

กระแสสู้กระสุน “เท้ง ณัฐพงษ์” จัดทัพ “ติ่ง ศรายุทธิ์” วางตัว 8 แม่ทัพภาค ปักธง สส.เขต ท้าชนบ้านใหญ่

แพ้สองนัดซ้อน เท้ง ณัฐพงษ์ ปรับทัพส้ม ติ่ง ศรายุทธิ์ วางตัว 8 แม่ทัพภาค ปักธงเพิ่ม สส.เขต ท้าชนบ้านใหญ่

 

ส้มยุคเสี่ยเท้ง ชูเลขาฯติ่ง ปรับทัพสาขาพรรค ขยายแนวรบสมาชิกตัวจริงเสียงจริง ด้อมส้มธรรมชาติ อาจเป็นแค่ภาพลวงตา

 

บทเรียนความพ่ายแพ้จากสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี และเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ทำให้พรรคประชาชน ภายใต้การนำของ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค และ “ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค ต้องปรับทัพใหม่

 

นอกจากการแต่งตั้งดาวเด่นดาวดัง เป็นรองหัวหน้าพรรค สิ่งที่น่าจับตามองคือ ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค 12 คน และในนี้มี 8 คน ที่รับผิดชอบระดับภาค

 

ภายใต้การชี้นำของ ติ่ง ศรายุทธิ์ รองเลขาธิการพรรค 8 คน จะหน้าที่คล้ายแม่ทัพภาค มุ่งหวังให้การจัดทำนโยบายของพรรคลงลึกไปในระดับภูมิภาคและกลุ่มประเด็นต่างๆ มากขึ้น

 

 

มือจัดตั้งพรรคมวลชน

 

ช่วงเลือกตั้ง สส.ปี 2566 พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง มีผู้สนับสนุน 14 ล้านเสียง และเกิดปรากฏการณ์ด้อมส้ม หรือหัวคะแนนธรรมชาติ

 

ผ่านไป 1 ปี จากพรรคก้าวไกล สู่พรรคประชาชน ในช่วงเวลา 1 เดือน พรรคใหม่ถูกทดสอบด้วยการเลือกตั้ง 2 สนามคือ นายก อบจ.ราชบุรี และเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1

 

ทั้งสองสมรภูมิ พรรคประชาชนพบความปราชัย แพ้การเมืองแบบบ้านใหญ่ ซึ่งคำว่ากระแส หรือหัวคะแนนธรรมชาติ ใช้ไม่ได้ผลในการเลือกตั้งท้องถิ่น และเลือกตั้งซ่อม สส.

 

“เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ “ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก จึงจัดสัมมนาพรรค เพื่อให้พรรคมีลักษณะเป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง

 

ติ่ง-ศรายุทธิ์ เปิดเผยแนวทางสร้างพรรคประชาชนให้เป็น “พรรคมวลชน” ประกอบด้วยองคาพยพ 4 ส่วน

 

1.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ

 

2.พนักงานภายในพรรค ที่ร่วมก่อตั้งกันมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

 

3.ตัวแทนสาขาพรรค ซึ่งสมาชิกพรรคเป็นคนเลือก มีทุกจังหวัด บางจังหวัดมีถึง 50 คน

 

4.อาสาสมัคร คนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันกับพรรค

 

ติ่ง ศรายุทธิ์ รู้จักองคาพยพภายในพรรคเป็นอย่างดี เพราะรับบทบาทเป็น “ผู้อำนวยการพรรค” มาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล

 

รู้จักแม่ทัพภาคส้ม

 

สำหรับรองเลขาธิการพรรคสัดส่วนภูมิภาค 8 ตำแหน่ง หรือแม่ทัพภาค มีใครบ้าง  

 

1.ปิยรัฐ จงเทพ รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

“โตโต้” ปิยรัฐ สส.กทม. เคยร่วมขบวนการคนเสื้อแดง จนถึงแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง สมัยต้าน คสช. และเข้าร่วมงานพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับรังสิมันต์ โรม

 

2.เจษฎา เอี่ยมปุ่น รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคกลาง

 

เจษฎา ผู้ประสานงานพรรคประชาชน จ.กาญจนบุรี เป็นเกษตรแถว อ.ท่ามะกา ก้าวสู่การเมืองนอกสภา ในนามกลุ่มเสรีกาญจน์เพื่อประชาธิปไตย

 

3.พงศธร ศรเพชรนรินทร์ รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก

 

“โย” พงศธร สส.ระยอง ทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ ทำงานเบื้องหลังผู้สมัคร สส.ระยอง เมื่อปี 2562 และเป็นที่ปรึกษา เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ สมัยแรก

 

4.วิจักษณ์ พฤกษ์สุริยา รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคใต้

 

วิจักษณ์ ผู้ประสานงานพรรคประชาชน จ.สงขลา เคยเป็นคณะทำงานผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ คณะก้าวหน้า

 

5.วิสา บุญนัดดา รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคเหนือตอนบน

 

วิสา บุญนัดดา ผู้ประสานงานพรรคประชาชน จ.พะเยา เคยเป็นผู้สมัคร สส.พะเยา เขต 3 พรรคอนาคตใหม่ และอยู่เบื้องหลังผู้สมัคร สส.พะเยา ปี 2566

 

6.คริษฐ์ ปานเนียม รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคเหนือตอนล่าง

 

คริษฐ์ สส.ตาก เขต 1 หรือที่คนเมืองตากรู้จัก เหยี่ยว คริษฐ์ TAK CITY ผู้ก่อตั้งชุมชนออนไลน์ มาแต่ปี 2554 ก่อนจะผันตัวเป็นผู้สมัครนายก อบจ.ตาก และเป็นผู้แทนฯ

 

7.วีรนันท์ ฮวดศรี รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคอีสานตอนบน

 

“ทนายป๊อก” วีรนันท์ สส.ขอนแก่น เขต 1 เป็นเพื่อนรักของอานนท์ นำภา ร่ำเรียนกฎหมายจากรามคำแหง เป็นทนายความสิทธิมนุษยชน

 

8.พนา ใจตรง รองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคอีสานตอนล่าง

 

พนา ใจตรง ผู้ประสานงานพรรคประชาชน จ.อุบลราชธานี เคยเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล