คอลัมนิสต์

ศึกเชียงใหม่ “แพทองธาร” สู้สนามเล็กชน “บูรณุปกรณ์” กู้ศักดิ์ศรีบ้านชินวัตร

30 ก.ย. 2567

น้ำท่วมแฝงการเมือง “แพทองธาร” คนเพื่อไทยเปิดหน้าท้าชิง “อัศนี” ศึกเทศบาลนครเชียงใหม่ “บูรณุปกรณ์” ผูกขาดร่วม 2 ทศวรรษ

สู้น้ำท่วม แพทองธาร ชูเชียงใหม่โมเดล แฝงการเมืองท้องถิ่น เพื่อไทยเปิดหน้าท้าชิงบูรณุปกรณ์ ศึกนายกเล็กเจดีย์ขาว

 

สมรภูมิเทศบาลนครเชียงใหม่ ตระกูลบูรณุปกรณ์ผูกขาดมาร่วม 2 ทศวรรษ แดง-ส้ม พร้อมชนบ้านใหญ่

 

วันที่ 28 ก.ย.2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงติดตามสถานการณ์อุทกภัยในเขตชุมชน อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

 

นายกฯแพทองธาร รู้สึกชื่นชม ผวจ.เชียงใหม่ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาชน ที่ร่วมกันป้องกันภัยน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ถึงขั้นเรียกว่านี่คือเชียงใหม่โมเดล

ระหว่างนั้น ทีมงานเพื่อไทยเชียงใหม่ ได้จัดคิวให้นายกฯแพทองธาร ไปเยี่ยมผู้สูงอายุ และมอบถุงยังชีพพบปะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่วัดเมืองสาตรหลวง ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่

 

ตรงจุดนี้ นายกฯแพทองธาร ได้พบ “หยกปนันรัตน์ วิริยกุลศานต์ ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และทีมผู้สมัคร สท. 4 แขวง

 

ผู้อยู่เบื้องหลัง หยก-ปนันรัตน์ คือ “เจ้ปุ้ย” วิภาวัลย์  วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่ลงทำงานในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่อย่างต่อเนื่องมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว

 

ที่น่าประหลาดใจในช่วงน้ำท่วมเชียงใหม่ “เฮียหน้อย” ชาตรี เชื้อมโนชาญ อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ทำงานเร็วทำงานไว สุดยอดครับ ขอขอบคุณ นายกหน่อย อัศนี บูรณุปกรณ์”

 

จริงๆแล้ว น้ำท่วมเชียงใหม่รอบนี้ นายกหน่อย-อัศนี และทีมงานเทศบาล ก็ได้รับคำชมจากชาวบ้านผู้ประสบภัยอย่างมาก

แพทองธาร ถ่ายภาพกับทีมเพื่อไทยเชียงใหม่

สมรภูมิเจดีย์ขาว

 

เทศบาลนครเชียงใหม่ มีพื้นที่ 40.216 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลในปี 2551 มีประชากรในเขตเทศบาล 148,477 คน โดยยกฐานะเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2478

 

เนื่องจากมีเจดีย์ขาว ตั้งอยู่วงเวียนบริเวณด้านหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ จึงเรียกกันว่า สำนักงานเทศบาลฯ เจดีย์ขาว

 

ในรอบ 20 ปี นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ล้วนอยู่ในตระกูล “บูรณุปกรณ์” หรือกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ประกอบด้วย ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ (ปี 2541-2543) ,บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ (ปี 2543-2550),ทัศนัย บูรณุปกรณ์ (ปี 2552-2563) และอัศนี บูรณุปกรณ์ (ปี 2564-2568)

 

ยกเว้นปี 2550 เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ เบียดแทรกเข้ามาเป็นนายกเล็กเจดีย์ขาวแค่ 1 สมัย

 

ปลายปี 2561 ทัศนัยวางมือทางการเมือง ประพันธ์ บูรณุปกรณ์ จึงผลักดันลูกชาย-อัศนี ลงสนามเทศบาลนครเชียงใหม่

 

หลังบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ปราชัยในสนาม อบจ.เชียงใหม่ การลงสนามของอัศนี ในสมรภูมินายกเล็กเชียงใหม่ ต้นปี 2564 ก็เหมือนเดิมพันสุดท้ายของตระกูลบูรณุปกรณ์

 

ตอนนั้น เพื่อไทยนครเชียงใหม่ เปิดตัว “เฮียหน้อย” ชาตรี เชื้อมโนชาญ ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ซึ่งเฮียหน้อย เคยเป็นรองนายกเทศมนตรี ในสมัยทัศนัย เป็นนายกฯ แต่เฮียหน้อยก็ไปถึงฝั่งฝัน

 

สำหรับ “หยก” ปนันรัตน์ วิริยกุลศานต์ ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ ต่างจากเฮียหน้อย ซึ่งเจ้ปุ้ย-วิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ ได้ปูทางสร้างฐานเสียงให้หยก-ปนันรัตน์ มาระยะหนึ่งแล้ว

 

หากเปรียบเชิงชั้นการเมือง หยก ปนันรัตน์ ย่อมเป็นรองนายกหน่อย-อัศนี ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มานานเกือบ 10 ปี

 

ส้มไม่ขยับสนามเล็ก

 

4 ปีที่แล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้สนับสนุน “เหมา” ธีรวุฒิ แก้วฟอง ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในนามกลุ่มเชียงใหม่กว่า และคณะก้าวหน้า

 

ธีรวุฒิ แก้วฟอง ข้าราชการชำนาญการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลาออกจากราชการ มาร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ตั้งกลุ่มเชียงใหม่กว่า ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

 

ลึกๆ ธนาธรก็คาดหวังว่า คนตัวเมืองเชียงใหม่ 14 ตำบล เขตเทศบาลนครเชียงใหม่จะเลือกคนรุ่นใหม่ แต่ธีรวุฒิ แก้วฟอง ก็ได้แค่ 6,797 คะแนน ส่วน อัศนี บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ผู้ชนะได้ 19,198 คะแนน

 

เลือกตั้ง สส.เชียงใหม่ ปีที่แล้ว พรรคก้าวไกล(พรรคประชาชน) กวาด สส.เชียงใหม่ไป 7 ที่นั่ง เฉพาะเขต อ.เมืองเชียงใหม่ มี สส.ส้ม 2 คนคือ เขต 1 เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู และเขต 2 การณิก จันทดา

 

จนถึงวันนี้ พรรคประชาชนยังไม่มีความเคลื่อนไหวเรื่องการวางตัวผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่