คอลัมนิสต์

ปริศนาใบสั่ง “สว.สีน้ำเงิน” ปกป้องมรดก “คสช.” ดับฝันส้ม-แดงทำ รธน.ใหม่

ปริศนาใบสั่ง “สว.สีน้ำเงิน” ปกป้องมรดก “คสช.” ดับฝันส้ม-แดงทำ รธน.ใหม่

30 ก.ย. 2567

มาตามนัด “สว.สีน้ำเงิน” หักสภาผู้แทนฯ ยื้อ พ.ร.บ.ประชามติ “ผู้มากบารมี”ดับฝันค่ายส้ม รื้อมรดก คสช. จัดทำ รธน.ใหม่

มาตามนัด สว.สีน้ำเงิน หักสภาผู้แทนฯ ยื้อ พ.ร.บ.ประชามติ ดับฝันค่ายสีส้ม ล้างบางมรดก คสช. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

 

เบื้องลึก ผู้มากบารมี ส่งสัญญาณตีกลับร่าง สส. ปกป้อง รธน.2560 ชั่วโมงนี้ สว.สีน้ำเงินไม่ต่างจาก สว.ร่างทรง คสช.

 

ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่ง กมธ.ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.กลุ่มกฎหมายฯ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ผลการลงมติ สว.เสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และงดออกเสียง 9 เสียง

 

ประเด็นหลักที่ กมธ.ของ สว.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฉบับร่าง สส.คือ เกณฑ์การผ่านประชามติ กลับไปใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” หมายถึงผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง

 

เท่ากับว่า สภาสูงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติของสภาผู้แทนฯ และจะต้องมีการตั้ง กมธ.ร่วมกันของ 2 สภา ซึ่งทอดเวลาออกไปอีก 2-3 เดือน

 

ความหวังของรัฐบาลเพื่อไทย ที่จะให้การออกเสียงประชามติครั้งแรก เกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ต้นเดือน ก.พ.2568 ก็เลิกคิดไปได้เลย

 

ทิศทางการโหวตของ สว.เสียงข้างมาก หรือ “สว.สีน้ำเงิน” เหมือนจะส่งสัญญาณว่า การรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามความฝันของพรรคสีส้ม และภาคประชาชน คงยากจะเป็นจริง

 

ผู้พิทักษ์มรดก คสช.

 

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล พยายามจะลบล้างผลพวงการรัฐประหาร ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้ง แต่ฝ่าด่าน สว.ร่างทรง คสช.ไม่ได้

 

แม้กระทั่งรัฐบาลแพทองธาร พรรคเพื่อไทยคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ก็เจอเครือข่ายอนุรักษนิยมออกขวางการรื้อหมวดจริยธรรม

 

ดังที่ทราบ วุฒิสภาเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสียง สว. โดยต้องการเสียงเห็นชอบอย่างน้อย 67 เสียง

 

สมัยสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แทบจะปิดประตายไปเลยที่จะได้เสียง สว. 67 เสียง มาหนุนการแก้ไข รธน.

 

ปัจจุบัน สว.ที่มาจากการเลือกกันเอง 200 คน มี สว. 150-160 คน ถูกเรียกขานว่า “สว.สีน้ำเงิน” มีจุดยืนอนุรักษนิยม ไม่ต่างจาก สว.ที่มาจาก คสช.

 

ขณะที่ สว.พันธุ์ใหม่ ประมาณ 19-20 คน จึงยากที่จะได้ 67 เสียง เป็นกุญแจไขประตูนำไปสู่การแก้ไข รธน.

 

มีรายงานว่า “ผู้มากบารมี” ได้ส่งสัญญาณผ่านแกนนำ สว.สีน้ำเงิน ให้ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 ฉะนั้น สว.เสียงข้างมาก จึงกลับลำ 360 องศา หักสภาล่างยื้อเกณฑ์การผ่านประชามติ

 

ความฝันของสีส้ม

 

เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายภาคประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) แถลงว่า อีกเพียง 2 ปี 8 เดือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยชุดนี้ ก็จะหมดวาระลง

 

หากยึดตามแนวที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และใช้คำถามทำประชามติที่ล็อกบางหมวดเอาไว้ ไม่มีทางที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเสร็จทัน และมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2570

 

ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็คิดอ่านเหมือนกัน

 

หนึ่ง-ทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็พอ เพราะสิ้นเปลืองเวลา-งบประมาณ และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง

 

สอง-เริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

สาม-คณะรัฐมนตรีสามารถเร่งรัดกระบวนการได้โดยการเสนอร่าง “จัดตั้ง สสร.” ฉบับของรัฐมนตรีได้

 

พูดได้คำเดียวว่า แค่ฝัน เพราะรัฐบาลแพทองธาร เป็นรัฐบาลดีลข้ามขั้ว และพรรคภูมิใจไทย แสดงความเป็นพรรคอนุรักษนิยม คงไม่ยอมปล่อยผ่านให้มีการรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 โดยง่ายดาย