หัก 112 “แพทองธาร” นิรโทษกรรมเป็นหมัน “อนุทิน” ต้านชิงแต้มอนุรักษ์
วงข้าวสลายเห็นต่าง “แพทองธาร” นัดพรรคร่วมดินเนอร์ จับตา “อนุทิน” ค้านนิรโทษกรรมซ่อนปม 112 ซ้ำรอย กม.ประชามติ
สลายเห็นต่าง แพทองธาร นัดพรรคร่วมดินเนอร์ จับตานิรโทษกรรมซ่อนปม 112 ซ้ำรอยประชามติ สีน้ำเงินคว่ำ
พท.เอายังไง ภท.-ปชป.-รทสช. ประสานเสียงไม่เอานิรโทษกรรมเอี่ยว ม.112 หวังแชร์ฐานเสียงอนุรักษนิยม
ในที่สุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งวงดินเนอร์ในช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 21 ต.ค.2567 เพื่อสลายความเห็นต่าง
มีข่าวว่า วงข้าวพรรคร่วมรัฐบาล น่าจะมีการล้างใจเรื่องกฎหมายประชามติประตูสู่การแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม สรุปแล้วจะเอากันอย่างไร
เฉพาะนโยบายผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ที่เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย กำลังจะซ้ำรอยกฎหมายประชามติ เพราะพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคคือ รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เห็นต่างในประเด็น ม.112
ล่าสุด พรรคเพื่อไทยจะมีการนำผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาในสัปดาห์นี้
บังเอิญว่า มีเรื่องล่อแหลม มีการเสนอนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตาม ม.112 จึงทำให้ สส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงความไม่เห็นด้วย
ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ฝั่งของพรรคภูมิใจไทย ในเรื่อง ม.112 จะไม่มีการนิรโทษกรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดยืนของพรรค
ประเมินได้ว่า ผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจจะต้องเลื่อนออกไป เหมือนร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ
ปม 112 ล่อแหลม
ย้อนไปก่อนหน้านั้น มีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ฉบับคือ ร่างหนึ่งเป็นของพรรคประชาชน ส่วนอีกร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ แตกต่างกันทั้งชื่อและเนื้อหา แต่ที่เหมือนกันคือ นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง
ก่อนที่สภาฯ จะได้พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน ซึ่งสรุปได้เป็น 3 แนวทางคือ
1.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว
2.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข ซึ่งได้เสนอเงื่อนไขไว้ด้วย
3.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข
ประเด็นการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข หมายถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตาม ม.110 และ ม.112 ปรากฏว่า กมธ.พรรคสีน้ำเงิน แสดงจุดยืนว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
แชร์ฐานเสียงอนุรักษ์
ดังที่ทราบกัน พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างชูธงค้านการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112
เนื่องจากทั้ง 3 พรรคต่างเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะพรรค ปชป. ที่มีฐานเสียงหนาแน่นในกลุ่มเสื้อเหลือง และ กปปส. เช่นเดียวกับพรรค รทสช.
สำหรับพรรคภูมิใจไทย ที่มีภาพลักษณ์เป็นพรรคบ้านใหญ่ กำลังจะเสริมจุดแข็งแบรนด์ “พรรคสีน้ำเงิน” สอดประสานกับ สว.สีน้ำเงินในสภาสูง
ยิ่งในวันที่กลุ่มเสื้อเหลืองเก่า และอดีต กปปส.รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับรัฐบาลแพทองธาร แกนนำพรรค ภท. ,ปชป. และ รสทช. ก็ต้องแสดงจุดยืนความเป็นพรรคอนุรักษ์ให้เด่นชัดขึ้น
ไม่แปลกที่ สส.ภูมิใจไทย และ สว.สีน้ำเงิน จะรับลูกกันในประเด็นร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ และส่งสัญญาณถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทบจะเป็นไปไม่ได้
พรรคเพื่อไทยจึงตกที่นั่งลำบาก เพราะนโยบายเรือธงอย่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลแพทองธาร
การเลือกตั้งสมัยหน้า เพื่อไทยที่อ้างว่า “พรรคปฏิรูป” จะเอาอะไรไปหาเสียงกับฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย
วงข้าวของพรรคร่วมรัฐบาล โดยการริเริ่มของนายกฯแพทองธาร จะเกิดมรรคผลอันใด หากสีน้ำเงินไม่เอาด้วยเรื่องนิรโทษกรรม ม.112