รู้ทันสีน้ำเงิน “แพทองธาร” ปักธงแดง “เสรีนิยม” รับศึกษานิรโทษ 112
โชว์จุดยืนเสรีนิยม “แพทองธาร” พท.โหวตรับศึกษานิรโทษกรรมฯ รู้ทันกลเกมสีน้ำเงิน สลัดทิ้งอนุรักษ์ ชิงแต้มส้ม
ไฟซ่อนเชื้อ แพทองธาร ปักธงเสรีนิยม พท.โหวตรับศึกษานิรโทษกรรมฯ สวนทาง ภท.-รทสช.สายอนุรักษ์
แพทองธาร ย้ำชัด พท. ไม่ใช่อนุรักษนิยมใหม่ การแสดงจุดยืนโหวตรับบทศึกษานิรโทษฯ ก็คือการชิงธงนำฝ่ายประชาธิปไตย แข่งพรรคสีส้ม
เก็บตกดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และแกนนำ 5 พรรคร่วมรัฐบาลประสานเสียงตรากฎหมายนิรโทษกรรม จะไม่แตะมาตรา 112 แต่อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง ไม่ใช่ความแตกแยก
ดังนั้น วันที่ 24 ต.ค.2567 ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร จึงมีความเห็นว่า พรรคเพื่อไทย จะโหวตเห็นชอบกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ 6 ประเด็น
สอดรับกับ สมคิด เชื้อคง วิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนฯ จะเป็นการโหวตเฉพาะข้อสังเกตของ กมธ. ส่วนตัวเนื้อหารายงานศึกษาตรา กม.นิรโทษกรรมฯ ไม่ต้องโหวต เพราะเป็นเรื่องรับทราบ
จากการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา มีสิ่งที่เห็นไม่ตรงกันคือ การนิรโทษกรรมที่รวมถึง คดี ม.110 และคดี ม.112 ซึ่งหาข้อสรุปไม่ได้ จึงต้องนำมาพิจารณาต่อในวันที่ 24 ต.ค.นี้
ความคิดเห็นที่แตกต่างในสภาฯ แบ่งเป็น 2 ทางคือ ฝ่ายสนับสนุนรายงานและข้อสังเกตของกรรมาธิการ คือ พรรคประชาชน และพรรคเล็กอีก 2 พรรค
ฝ่ายไม่สนับสนุน ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย,พรรคประชาธิปัตย์,พรรครวมไทยสร้างชาติ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,พรรคกล้าธรรม และพรรคชาติพัฒนา
เบื้องต้นพรรคเพื่อไทย ยังไม่ตัดสินใจว่า จะโหวตไปในทิศทางใด และในที่สุด พรรคเพื่อไทยก็เลือกเห็นชอบรายงานและข้อสังเกตของ กมธ. เหมือนพรรคประชาชน
ผลการโหวตดังกล่าว สะท้อนขั้วความคิดทางการเมือง เพื่อไทยคงต้องการสลัดทิ้งภาพขวาใหม่ เพื่อเอาใจฐานเสียงคนเสื้อแดง และคนรุ่นใหม่
จุดตัดทางอุดมการณ์
หลัง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนฯ ได้มีข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ ที่จะขอส่งต่อไปยัง คณะรัฐมนตรี สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควรรับทราบหรือควรปฏิบัติ ซึ่งรวมแล้วมี 6 ประเด็น
1.ขอให้ ครม.ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อคืนความปรองดองสมานฉันท์
2.แนะนำให้ใช้ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม ต่อคดีที่ควรได้รับนิรโทษกรรม
3.ฐานความผิดที่จะได้สิทธินิรโทษกรรม ควรยึดจากแรงจูงใจทางการเมืองสำหรับฐานความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว
4.ไม่นิรโทษกรรม คดีมาตรา 288 ฆ่าผู้อื่น และมาตรา 289 ฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์
5.ระหว่าง ครม. ยังไม่ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรพิจารณาการอำนวยความยุติธรรม คือ เร่งรัดการสอบสวน ของ สตช. หรือ ดีเอสไอ ขณะที่คดีที่อยู่ในชั้นสั่งฟ้องของอัยการ ให้เร่งพิจารณา สั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี เฉพาะกรณีความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
6.คืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ได้รับนิรโทษกรรม
จุดยืนแดงเสรีนิยม
อดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอญัตติตั้ง กมธ.ศึกษาตรา กม.นิรโทษกรรม เพื่อหาทางออกร่วมกัน หากพรรคไม่เห็นชอบ ก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน
ตรงกันข้าม หากเพื่อไทยเลือกโหวตค้านข้อสังเกตกรรมาธิการฯ ก็ต้องเผชิญความเสี่ยงที่พรรคประชาชน จะโจมตีว่า รัฐบาลไม่จริงใจต่อการสร้างความปรองดองในประเทศ ผ่านกระบวนการล้างผิดด้วยกฎหมาย
ที่แน่ๆ พรรคสีส้ม จะยืนเด่นอยู่ฝั่งเสรีนิยมพรรคเดียว และพรรคสีแดงจะถูกผลักไปอยู่ฝั่งอนุรักษนิยม
เหนืออื่นใด แกนนำ พท.มองว่า มีบางพรรคปั่นกระแสค้าน กม.นิรโทษกรรม ม.112 จนเกินจริง เพื่อชิงเป็นเบอร์หนึ่งของพรรคสายอนุรักษ์
ดังนั้น เพื่อไทยจึงโหวตเห็นชอบ เพื่อแสดงจุดยืนว่า เป็นพรรคปฏิรูป ไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมใหม่ เหมือนที่ทักษิณ และแพทองธาร เคยประกาศไว้ในที่ประชุมพรรคเมื่อไม่นานมานี้