คอลัมนิสต์

ฤทธิ์น้ำเงิน “อนุทิน” ฝังนิรโทษ 112 “เพื่อไทย” ยอมเจ็บป้อง “แพทองธาร”

ฤทธิ์น้ำเงิน “อนุทิน” ฝังนิรโทษ 112 “เพื่อไทย” ยอมเจ็บป้อง “แพทองธาร”

25 ต.ค. 2567

แดงถอยน้ำเงินผยอง “อนุทิน” ฝังกลบนิรโทษกรรม 112 “เพื่อไทย” อุ้มรัฐบาลแพทองธาร ฝ่าพายุนิติสงคราม

น้ำเงินผยอง อนุทิน คว่ำนิรโทษกรรม 112 เพื่อไทย ถอย สายเสื้อแดงกลืนเลือด อุ้มรัฐบาลแพทองธาร ฝ่านิติสงคราม

 

เพื่อไทยเสียงแตก 115 สส.แหกมติพรรค โหวตไม่รับข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรมฯ ด้อมส้มแค้นซัดเพื่อไทยการละคร เสื้อแดงเล่นสองหน้า

 

วันที่ 24 ต.ค.2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 270 เสียงต่อ 152 เสียง “ตีตก” ข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ โหวต “ไม่เห็นด้วย” เฉพาะพรรคภูมิใจไทย 65 เสียง และพรรครวมไทยสร้างชาติ 27เสียง

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางไปราชการที่กัมพูชา ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ในคดีมาตรา  112 และมติพรรคภูมิใจไทย ก็มีความชัดเจนไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้

 

ที่ผ่านมา ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ ได้เคลื่อนไหวคัดค้านรายงานศึกษานิรโทษกรรมฯ พ่วงคดี ม.112 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่ายบุรีรัมย์ พยายามโชว์ความเป็น “เลือดสีน้ำเงินเข้ม”

 

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่า รายงานการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม แยกเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนของตัวรายงานนั้น รัฐธรรมนูญระบุให้แค่รับทราบ สภาฯไม่ต้องลงมติ

 

อีกส่วนหนึ่งคือ “ข้อสังเกตของกรรมาธิการ” ที่มีการเสนอนิรโทษกรรม ให้พ่วงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 เข้าไปด้วย

 

เมื่อ “ข้อสังเกตของ กมธ.” จะต้องแนบไปกับรายงานตัวเต็มที่จะส่งให้ ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงให้ สส.ลงมติ ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

 

กลืนเลือดหรือการละคร

 

ช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้นัดประชุม สส. และมีมติว่าจะเห็นด้วยกับ “ข้อสังเกตของ กมธ.” เมื่อลงมติจริง สส.เพื่อไทย กลับโหวตไปคนละทิศคนละทาง

 

สส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ 115 เสียงลงมติ “ไม่เห็นด้วย” ขณะที่ 11 เสียง “เห็นด้วย” 4 เสียง “งดออกเสียง” และ 12 เสียง ไม่ลงคะแนน

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน อธิบายถึงเหตุผลของ สส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย “ข้อสังเกตของ กมธ.” เพราะคดี ม.112 ไม่ใช่คดีการเมือง จึงไม่อยู่ในข่ายการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง 

 

ในข้อสังเกตของ กมธ. มีถ้อยคำว่า “คณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณารายงานเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมโดยเร็ว” เมื่อสภามีมติ “ไม่เห็นด้วย” เท่ากับว่า ไม่มีข้อผูกมัดต่อหน่วยงานต่างๆ เท่ากับว่า ไม่ต้องเอาเผือกร้อนไปใส่มือนายกฯแพทองธาร

 

สส.เพื่อไทย ที่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. 11 คน ล้วนแต่เป็น สส.บัญชีรายชื่อ สาย นปช.เสื้อแดง

 

แม้ สส.สายเสื้อแดง จะอภิปรายเหน็บค่ายสีน้ำเงินว่า มีการปั่นกระแสปกป้องสถาบันฯ จนเกินจริง แต่ก็เจอด้อมส้มวิจารณ์ว่า รู้เห็นเป็นใจกับเพื่อไทยการละคร

 

น้ำเงินถือดุลเหนือกว่า

 

ลึกๆ แกนนำเพื่อไทย ก็ต้องการจับมือพรรคประชาชน รับรองการรายงานนิรโทษกรรม เพื่อแสดงจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตย

 

ครั้นหันมองเสถียรภาพรัฐบาลแพทองธาร ค่ายภูมิใจไทย มีดุลอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า โดยเฉพาะ สว.สายสีน้ำเงิน จึงไม่กล้าเสี่ยงเล่นเกมเอาใจแดงอุดมการณ์

 

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกกรณี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ยื่นคำร้องขอให้  ทักษิณ ชินวัตร เลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ โดยขอให้อัยการสูงสุดทำหนังสือชี้แจงมาภายใน 15 วัน

 

จากผลการพิจารณาดังกล่าว ก็พอจะคาดหมายได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่า จะรับหรือไม่รับ ในวันพุธที่ 13 พ.ย.หรือพุธที่ 20 พ.ย.2567

 

ก่อนหน้านั้น กกต.ก็ชี้มูลตั้งแท่นสอบสวนคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณีทักษิณที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ครอบงำ ชี้นำ

 

เพียงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแท่นพิจารณาคำร้องของธีรยุทธ สุวรรณเกษร แถม กกต.ออกลูกขยัน ก็หนาวกันทั้งบ้านจันทร์ส่องหล้า และพรรคเพื่อไทย