ไร้หัวโขน “เกรียง” อุ้มน้องสู้ศึก “อบจ.อุบล” ชนสีส้มอดีตเด็กเพื่อไทย
สมรภูมิ อบจ.อุบลฯ “เกรียง” ไร้หัวโขน อุ้มน้อง “เสี่ยกานต์” ชนค่ายส้มส่ง “เสี่ยน้อย” อดีตเด็กเพื่อไทยปะทะลูกพี่เก่า
ศึกวัดบารมี เกรียง ไร้หัวโขน อุ้มน้องลุยสนาม อบจ.อุบลฯ ค่ายสีส้มท้ารบ ส่งเสี่ยน้อย อดีตเด็กเพื่อไทย ชนลูกพี่เก่า
สมรภูมิ อบจ.อุบลฯ บททดสอบเท้งทั่วไทย เสี่ยน้อยไม่ธรรมดา มีฐานเสียงและฐานทุน บวกกระแสส้ม ถล่มบ้านใหญ่กัลป์ตินันท์
เหลือเพียงเดือนเศษ ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ทั่วประเทศ กานต์ กัลป์ตินันท์ ยังตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.อุบลราชธานี โดยมีผลวันที่ 26 ต.ค.2567
กานต์ กัลป์ตินันท์ น้องชาย เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย เพิ่งกลับมานั่งนายก อบจ.อุบลฯอีกสมัย เมื่อปลายปี 2563 หลังปล่อยให้ตระกูลโควสุรัตน์ ยึดครองมา 2 สมัย
เข้าใจว่า เสี่ยกานต์ชิงลาออกก่อนครบวาระ เพราะไม่อยากเลือกตั้งพร้อมกับสนามอื่นทั่วประเทศ เนื่องจากคู่แข่งที่เปิดหน้ามาแล้วคือ ค่ายสีส้ม ขืนรอไปถึงเลือกตั้งช่วงต้นปี 2568 หวั่นเกิดกระแสท้องถิ่นสีส้ม บ้านใหญ่จะสู้ลำบาก
เมื่อไม่นานมานี้ พรรคประชาชน เปิดตัว “เสี่ยน้อย” สิทธิพล เลาหะวนิช เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลฯ หลังเสี่ยน้อย ลาออกจากรองนายก อบจ.อุบลฯ
4 ปีที่แล้ว สิทธิพลยังสวมเสื้อสีแดง เป็นผู้สนับสนุนเสี่ยกานต์ สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น จึงได้ตำแหน่งรองนายก อบจ. จึงมีชาวบ้านเรียกว่า “รองน้อย”
นายน้อยพริกหัวเรือ
สนามเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ จะเป็นบทพิสูจน์ “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และพรรคประชาชน ว่า แผ่วหรือไม่แผ่ว
เหนืออื่นใด “ติ่ง” ศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค วางตัว พนา ใจตรง ผู้ประสานค่ายส้มเมืองอุบลฯ เป็นรองเลขาธิการพรรค สัดส่วนภาคอีสานตอนล่าง
ดังนั้น เมื่อพรรคประชาชน ตัดสินใจส่ง เสี่ยน้อย-สิทธิพล เลาหะวนิช ลงสนาม ก็ต้องมีความมั่นใจ และประเมินว่าสู้บ้านใหญ่ได้
สิทธิพล เลาหะวนิช เป็นเจ้าของธุรกิจโรงคัดแยกพริกนายน้อย และผู้ส่งออกพริกรายใหญ่ของ จ.อุบลราชธานี โดยมีตลาดอยู่ในอินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน
นอกจากนี้ เสี่ยน้อยยังมีฐานเสียงสำคัญอยู่ในพื้นที่ ต.หัวเรือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งในอดีต ก็คือฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และตระกูลกัลป์ตินันท์
บ้านใหญ่วันไม่มีหัวโขน
หลายคนอาจสงสัยว่า เกรียง กัลป์ตินันท์ คนสนิทนายใหญ่ และเจ๊แดง จึงหลุดเก้าอี้ รมช.มหาดไทย
หากย้อนไปดูผลงานสนามเลือกตั้ง สส.อุบลฯ สมัยที่แล้ว เพื่อไทย ได้ สส.แค่ 4 คน แถมอำนาจเจริญ และยโสธร ก็พ่ายยับ เสี่ยเกรียงได้เป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลเศรษฐา ก็ถือว่าทำบุญมาเยอะแล้ว
ในวันที่เสี่ยเกรียง ไร้หัวโขนรัฐมนตรี จึงต้องชิงเล่นเกมให้เสี่ยกานต์ น้องชายลาออกจากนายก อบจ. ก่อนครบวาระ เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง
ปลายปี 2563 เสี่ยกานต์ หวนทวงคืนเก้าอี้นายก อบจ.อุบลฯ ในสีเสื้อเพื่อไทยและประสบชัยชนะแบบว่าต้องลุ้นเหนื่อยเหมือนกัน
บังเอิญว่า คู่แค้นบ้านใหญ่กัลป์ตินันท์ แตกเป็น 2 ก๊กคือ สมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ สังกัดกลุ่มคุณธรรม ที่มี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และ พรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายก อบจ.อุบลฯ ให้การสนับสนุน
อีกก๊กหนึ่งคือ “ตี๋เล็ก” เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ทายาท อดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีต ส.ส.อุบลฯ 11 สมัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลฟองงาม และ จินตะเวช
ว่ากันตามจริง หากก๊กบ้านใหญ่ “โควสุรัตน์” และก๊กบ้านใหญ่ “โภคกุลกานนท์” ไม่แตกกันเอง แล้วรวมใจกันสู้ก็ชนะน้องชายเสี่ยเกรียง
สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ ที่คาดว่า จะมีขึ้นภายในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2567 เบื้องต้นน่าจะมีเสี่ยกานต์ ค่ายเพื่อไทย ลงแข่งกับเสี่ยน้อย ค่ายประชาชน
นัยว่า พรรคไทรวมพลัง ที่มี สส.อุบลฯ 2 คน อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือว่า จะส่ง “คุณนายกบ” จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ลงสมัครนายก อบจ.หรือไม่
ถ้าคุณนายกบ ลงสนามจริง ก็จะทำให้การแข่งขันในสนามนี้เข้มข้นขึ้น และเสี่ยเกรียง ต้องเปิดศึกสองด้าน โอกาสพ่ายก็มีสูงเช่นกัน