คอลัมนิสต์

ขวาจัดรู้ยัง “เตียบัญ” สัมพันธ์ลึก “ประวิตร” ย้อนอดีต เกาะกง-เกาะกูด

ขวาจัดรู้ยัง “เตียบัญ” สัมพันธ์ลึก “ประวิตร” ย้อนอดีต เกาะกง-เกาะกูด

05 พ.ย. 2567

ขวาไทยรู้ยัง สัมพันธ์ลึก “ประวิตร-เตียบัญ” ไม่ต่างจาก “ทักษิณ-ฮุนเซน” ย้อนอดีตแม่ทัพเขมร จากเกาะกงถึงเกาะกูด

เปิดความสัมพันธ์ ประวิตร - เตีย บัญ ไม่ต่างจาก ทักษิณ - ฮุน เซน อีกด้านที่ผกผันของกระแสชาตินิยมไทยและกัมพูชา

 

ย้อนอดีต จาก เกาะกง ถึง เกาะกูด เรื่องราวของเตีย บัญ คนไทยสองแผ่นดิน ในวันที่กลุ่มขวาจัดปลุกกระแสรักชาติ เรียกร้องเลิก MOU44

 

นับแต่ประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันเมื่อปี 2544 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า MOU44 จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 23 ปี และผ่านมาแล้ว 8 นายกรัฐมนตรี

MOU44 ก็ยังคงอยู่ แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการเสนอ ครม.ให้ยกเลิก ก็แค่รับหลักการ แต่ก็ไม่ได้จัดการให้จบ บันทึกความเข้าใจฉบับนั้น จึงตกมาถึงมือนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร

 

สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปิดการเจรจากับกัมพูชา ตามกรอบ MOU44 เช่นกัน แต่ไม่มีกลุ่มพลังปีกขวาออกมาปลุกกระแสชาตินิยม ปกป้องเกาะกูด

 

บังเอิญภาพความสัมพันธ์ “ทักษิณ-ฮุน เซน” ที่มีความแนบแน่น ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่ง เกิดความไม่ไว้วางใจ เกรงว่าไทยจะเสียผลประโยชน์และเสียดินแดน

 

ตรงกันข้าม หลายคนอาจลืมไปว่า “ประวิตร-เตีย บัญ” ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันส่งต่อมาจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายทหารใหญ่

 

สมเด็จพิชัยเสนาเตีย บัญ หรือ พล.อ.เตียบัญ เป็นนักการเมืองกัมพูชาที่เข้าใจภาษาไทย พูดไทยได้คล่อง เนื่องจากมีรากมาจากไทยเกาะกง ซึ่งผูกพันแนบแน่นกับคนไทยใน อ.คลองใหญ่ และ อ.เกาะกูด จ.ตราด

 

ปัจจุบัน สมเด็จพิชัยเสนาเตีย บัญ ได้ส่งต่อตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ให้เตีย เซ็ยฮา หรือเตีย สิงหา บุตรชาย ตามธรรมเนียมการเมืองวงศาคณาญาติของกัมพูชา

พล.อ.เตีย บัญ ในวันที่ส่งต่ออำนาจให้ลูกชาย

 

เกาะกง-เกาะกูด

 

ในประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม เดิมทีเกาะกงคือ จ.ปัจจันตคิรีเขตร ของราชอาณาจักรสยาม ด้วยแรงบีบของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส สยามต้องลงนามในพิธีสารปี 2447 ส่งมอบ จ.ปัจจันตคิรีเขตร ให้แก่ฝรั่งเศส

 

ชาวไทยจำนวนมากที่ไม่อยากอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศสได้อพยพมาอยู่ที่ อ.เกาะกูด และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เนื่องจากเกาะกูดยังเป็นของไทย

 

ดังนั้น คนไทยในเกาะกง และเกาะกูด ต่างก็มีความผูกพันกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พวกเขาจะถูกแบ่งแยกโดยการขีดเส้นอาณาเขตของนักล่าเมืองขึ้น

 

เตีย บัญ เกิดที่ จ.เกาะกง จึงพูดภาษาไทยได้ ในวัยหนุ่มเขาได้เข้าร่วมการต่อสู้กู้เอกราชจากนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศศ ในนาม “พลพรรคไทยเกาะกง” ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักปฏิวัติ ร่วมมือกับฮุน เซน โค่นล้มเขมรแดง

 

ช่วงที่หนีการไล่ล่าของเขมรแดง เตีย บัญ ได้รู้จักกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ที่ช่วยเหลือไทยเกาะกงแบบลับๆ 

 

พล.อ.ชวลิต จึงเป็นสารตั้งต้นความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างกลุ่มอำนาจฮุน เซน กับขุนศึกไทย ซึ่งมีการส่งต่อกันมา จนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

ขุนศึกไทย-กัมพูชา

 

ปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ตรึงเครียด และมีเหตุสู้รบที่ชายแดนด้านเขาพระวิหาร แต่เวลานั้น พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก็ยกหูโทรศัพท์หา พล.อ.เตีย บัญ ได้ตลอดเวลา

 

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 แค่เดือนเดียว พล.อ.เตีย บัญ รองนายกฯ และรมว.กลาโหมกัมพูชา ในเวลานั้น ได้นำคณะนายทหารกัมพูชา เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

ปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ได้รื้อฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และมอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานร่วมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee JTC) เพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อน

 

ปัจจุบัน รัฐบาลแพทองธาร กำลังดำเนินการเจรจาตามแนวทางเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ ลุงป้อมก็ทำเป็นจำไม่ได้ ทั้งที่ในรัฐบาลประยุทธ์ก็นั่งหัวโต๊ะประชุม JTC เจรจากับกัมพูชาเรื่องเขตแดนสองประเทศมาหลายรอบ