ฝันค้าง “ธนาธร” แพ้ระบอบบ้านใหญ่ “อบจ.” เสี่ยงพ่าย 47 สนามรวด
ท้องถิ่นสีส้มฝันค้าง “ธนาธร” สมรภูมิ “อบจ.” แพ้รวด หัวหน้า “เท้ง”คะแนนนิยมร่วง เหลืออีก 47 จังหวัด เสี่ยงแพ้หมด
บทเรียนช้ำ ธนาธร ฝันค้างท้องถิ่นสีส้ม สมรภูมิ อบจ. แพ้รวด หัวหน้าเท้งคะแนนนิยมร่วง เหลืออีก 47 จังหวัด เสี่ยงแพ้หมด
บทสรุปเลือกตั้งล่วงหน้า อบจ. 29 จังหวัด บ้านใหญ่คว้าชัยทุกสนาม ธนาธร รอต่อไป เหตุระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังยืนยง
ชัยชนะของ วัฒนา ช่างเหลา ที่สนามเลือกตั้ง นายก อบจ.ขอนแก่น ด้วยกลยุทธ์สร้างภาพเสื้อแดง และขายแบรนด์ทักษิณ อาจทำให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ต้องคิดหนัก หากยังหวังชนะเป็นสนามแรกที่อุดรธานี
ดังที่ทราบกัน พรรคประชาชนลงสนามท้องถิ่นครั้งแรก ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี และประสบความพ่ายแพ้ ฉะนั้น วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.2567 ค่ายสีส้มก็หวังจะเก็บชัยชนะจากสมรภูมินายก อบจ.อุดรธานี
สำหรับ ส.อบจ. และนายก อบจ.ทั่วประเทศ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.2567 ทาง กกต.ก็กำหนดปฏิทินเลือกตั้งแล้วคือ รับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.2567 และกำหนดวันเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568
เฉพาะการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด(ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ปรากฏว่า มีนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ และโดนใบแดง รวม 29 จังหวัด จึงทำให้เหลือเพียง 47 จังหวัดที่ต้องจัดการเลือกตั้ง
ระบอบบ้านใหญ่แข็งแกร่ง
จากปลายปี 2566 จนถึงวันที่ 29 ต.ค.2567 มีนายก อบจ. มีการลาออกก่อนครบวาระจำนวน 27 จังหวัด ไม่นับรวม จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ที่นายก อบจ.คนเก่าโดนใบแดง
ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง 9 จังหวัดคือ สุรินทร์, อุดรธานี, เพชรบุรี, นครศรีธรรมราช, กำแพงเพชร ,ตาก ,อุบลราชธานี ,เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์
เฉพาะสนามนายก อบจ. ที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว 18 จังหวัด ปรากฏว่า ผู้สมัครนายก อบจ. สังกัดพรรคประชาชน และที่เป็นสมาชิกพรรคส้ม ไม่ประสบชัยชนะแม้แต่สนามเดียว
ส่วนพรรคเพื่อไทย ส่งนายก อบจ. 3 จังหวัดคือ พะเยา, ยโสธร และสุโขทัย คว้าชัยทุกสนาม ยกเว้นปทุมธานี ที่ชนะแต่โดนใบเหลือง เลือกตั้งใหม่ก็แพ้
ผู้คว้าชัยใน 18 สนาม ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายก อบจ.ที่มาจากบ้านใหญ่ และนายก อบจ.หน้าใหม่ ก็มาจากบ้านใหญ่เหมือนกัน
ล่าสุด เลือกตั้งนายก อบจ.สุโขทัย มนู พุกประเสริฐ พี่ชาย อนงค์วรรณ เทพสุทิน พรรคเพื่อไทย กวาดไป 142,523 คะแนน ส่วน “ช่างมน” วศินภัทร์ กิตตินันท์พาณิชย์ สมาชิกพรรคประชาชน ได้ 32,232 คะแนน
พรรคสีส้มเป็นรอง
ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2567 จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. 9 จังหวัด โดยพรรคประชาชน ส่งผู้สมัครลงสนาม 2 จังหวัดคือ อุดรธานี และอุบลราชธานี
23 พ.ย. เลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ คู่ชิงดำคือ พรชัย มุ่งเจริญพร และธัญพร มุ่งเจริญพร ทั้งคู่สังกัดพรรคภูมิใจไทย
24 พ.ย. เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี , เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช
สนามเมืองเพชร ชัยยะ อังกินันทน์ อดีตนายก อบจ.จะคว้าชัยอีกสมัย
สนามอุดรธานี คณิศร ขุริรัง พรรคประชาชน ยังเป็นรอง ศราวุธ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย
สนามเมืองคอน กนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ. ค่าย ปชป.เหนือกว่า วาริณ ชิณวงศ์ ค่ายภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ
1 ธ.ค. เลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร สุนทร รัตนากร พี่ชายวราเทพ รัตนากร น่าจะได้เป็นนายก อบจ.สมัยที่ 5
15 ธ.ค. เลือกตั้งนายก อบจ.ตาก และเพชรบูรณ์
สนามเมืองตาก อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ ลูกสะใภ้ของ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ชิงดำ พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร ที่มีค่ายส้มตากหนุน
สนามเมืองมะขามหวาน “นายกด๊อยซ์” อัครเดช ทองใจสด ไม่มีคู่แข่งสายแข็ง น่าจะได้เป็นนายก อบจ.สมัยที่ 7
22 ธ.ค. เลือกตั้งนายก อบจ.อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
สนามเมืองพิชัยดาบหัก ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา อดีตนายก อบจ. 4 สมัย ซึ่งมี สส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย สนับสนุน คงชนะอีกสมัย
สนามเมืองดอกบัวบาน กานต์ กัลป์ตินันท์ อดีตนายก อบจ.เป็นตัวยืน ส่วนผู้ท้าชิงคือ “เสี่ยน้อย” สิทธิพล เลาหะวณิช พรรคประชาชน และอาจมีผู้สมัครสายแข็งอีกคนหนึ่ง
สำหรับพรรคประชาชนในสมรภูมินายก อบจ.อุบลราชธานี และอุดรธานี มีแนวโน้มจะพ่ายแพ้ทั้งสองสนาม