คอลัมนิสต์

ท้าทายบารมี “ทักษิณ” แดงอ่อนแรง “ธนาธร” ปลุกส้มรากหญ้าเมืองอุดรฯ

ท้าทายบารมี “ทักษิณ” แดงอ่อนแรง “ธนาธร” ปลุกส้มรากหญ้าเมืองอุดรฯ

11 พ.ย. 2567

แปรแดงเป็นส้ม “ธนาธร” ท้าทายนายใหญ่ “ทักษิณ” เซาะกร่อนเพื่อไทยอุดรฯ อ่อนแรงลง สนาม อบจ.ตัวชี้วัดศรัทธาบารมี

ศึกวัดบารมี ทักษิณ ผู้นำจิตวิญญาณเสื้อแดง ปะทะ ธนาธร พ่อส้มตัวจริง ไม่ใช่แค่สนามเชียร์ ศราวุธ-คณิศร ชิงเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี  

 

ยุทธศาสตร์แปรแดงเป็นส้ม ธนาธร สู้แบบอดทน สร้างฐานท้องถิ่นต่อยอด สส. จากปี 2562 ถึงปี 2566 เจาะฐานเพื่อไทยอุดรฯ ได้ 1 เขต

 

สัปดาห์นี้ สมรภูมิการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี จะได้รับความสนใจจากสื่อหลักทุกสำนักข่าว เพราะมีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง 2 คน จะเดินทางไปหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

ในอีกมิติการเมืองหนึ่ง การต่อสู้สนาม อบจ.อุดรฯ จะเป็นการพิสูจน์ศรัทธาบารมีของ “ผู้นำหลังม่าน” 2 พรรคคือ ทักษิณ ชินวัตร และธนาธร จึงเรืองกิจ

 

ทักษิณ เป็นขวัญใจคนอุดรฯ มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ส่วนธนาธร ก็มุ่งมั่นทำงานการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่อุดรฯ มามากกว่า 5 ปี

ท้าทายบารมี “ทักษิณ” แดงอ่อนแรง “ธนาธร” ปลุกส้มรากหญ้าเมืองอุดรฯ

 

ที่มั่นสีแดงเปลี่ยนไป

 

พรรคการเมืองของทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ครองแชมป์ สส.อุดรธานี มานานกว่า 2 ทศวรรษ

 

ฐานมวลชนในนาม “คนรักทักษิณ” และ “คนเสื้อแดง” จากอุดรธานี เป็นกองหนุนที่สำคัญในการเลือกตั้ง สส. และเป็นกำลังหลักในการชุมนุมทางการเมืองในเมืองหลวง

 

องค์กรเสื้อแดง ที่มีพลังมวลชนทั่วทุกอำเภอใน จ.อุดรธานี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

 

1.ชมรมคนรักอุดร ของ ขวัญชัย ไพรพนา

 

2.สมัชชาหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ของ อานนท์ แสนน่าน

 

3.นปช.อุดรฯ สถานีวิทยุชุมชนคนรักไท ของ “อาจารย์นาง” รัตนาวรรณ สุขศาลา

 

ปัจจุบัน องค์กรสมัชชาหมู่บ้านเสื้อแดงฯ และ นปช.อุดรฯ ล่มสลาย อานนท์ แสนน่าน กลายเป็นแกนนำกลุ่มรักสถาบันฯ ส่วนอาจารย์นาง เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

เหลือเพียงชมรมคนรักอุดร ของ ขวัญชัย ไพรพนา ที่ยังภักดีต่อทักษิณ และพรรคเพื่อไทย พร้อมกับฐานเสียง สส.อุดรฯ 7 คน

 

จริงๆแล้ว จำนวนคนเสื้อแดงหรือเอฟซีเพื่อไทย ก็ลดลงทุกปี การเลือกตั้ง สส.อุดรฯ ปี 2554 เพื่อไทย ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ 560,107 คะแนน แต่การเลือกตั้งปี 2566 เพื่อไทย ได้ 353,147 คะแนน

 

อีกตัวอย่างจากปี 2563 วิเชียร ขาวขำ อดีตนายก อบจ.อุดรฯ ได้ 325,933 คะแนน และปี 2566 เพื่อไทย ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 353,147 คะแนน สะท้อนว่า คะแนนนิยมค่ายสีแดงเริ่มนิ่ง มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต

 

ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทย จึงเปลี่ยนตัวผู้สมัครนายก อบจ.อุดรฯ จาก วิเชียร ขาวขำ เป็น ศราวุธ เพชรพนม อดีต สส.อุดรฯ 4 สมัย

 

เข็มมุ่งแปรส้มเป็นแดง

 

ตั้งแต่การเลือกตั้ง สส.อุดรธานี ปี 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในนามพรรคอนาคตใหม่ ได้วางเข็มมุ่งแปร “แดง” เป็น “ส้ม” เพราะรู้ดีว่า ที่นี่เป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดง

 

ช่วงปี 2563-2564 ธนาธร ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ได้ลุยสนามเลือกตั้งท้องถิ่นอุดรฯ ทั้งนายก อบจ. ,สมาชิกสภา อบจ. ,นายกเทศมนตรีตำบล และนายก อบต.

 

ปี 2563 คณะก้าวหน้า แพ้เลือกตั้งนายก อบจ. แต่ก็ได้สมาชิกสภา อบจ.อุดรฯ 5 คน

ปี 2564 คณะก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ คว้าชัยได้นายกเทศมนตรีตำบล 5 แห่ง และนายก อบต. 9 แห่ง

 

อุดรธานี เป็นจังหวัดเดียวที่คณะก้าวหน้า ปักธงท้องถิ่นระดับเทศบาล และ อบต.ได้มากที่สุดในภาคอีสาน

 

นอกจากนี้ กลุ่มอุดรธานี เป็นกลุ่มพลังคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มการเคลื่อนไหวหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ มีการชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อเนื่อง

 

คนเสื้อแดงหรือสมาชิก นปช.อุดรฯ ที่มีลักษณะมวลชนเชิงอุดมการณ์ ได้เข้าร่วมกับกลุ่มอุดรพอกันที เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

จากกลุ่มอุดรพอกันที ได้แปรเปลี่ยนเป็น “ด้อมส้ม” และสร้างความเปลี่ยนแปลงในเขต 1 อ.เมืองอุดรฯ เมื่อสนับสนุน “เคน” ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ เอาชนะศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.อุดรฯ 4 สมัย พรรคเพื่อไทยชนิดหักปากกาเซียน

 

ขณะที่คนเสื้อแดงมีจำนวนลดลง สวนทางกับคนเสื้อส้ม ที่เติบโตขึ้นทุกการเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ