อบจ.อุดร เดือด “พิธา” ร่ายมนต์แฉเล่ห์ “ทักษิณ” เนื้อแท้ศึกสองศาสดา
ข้ามฟ้ามาหาเสียง “พิธา” หว่านมนต์เสน่ห์ดึงด้อมส้ม รุกกลับ “ทักษิณ” วิวาทะแดง-ส้ม เนื้อแท้การต่อสู้ของ 2 ศาสดา
พระเอกมาแล้ว พิธา หว่านมนต์เสน่ห์ดึงด้อมส้ม รุกกลับ ทักษิณ ส่งผลศึก อบจ.อุดรธานี ระอุเดือดโค้งสุดท้าย
วิวาทะแดง-ส้ม ตกเกลื่อนเวทีหาเสียง แต่เนื้อแท้คือการต่อสู้ของ 2 ศาสดา ทักษิณ - ธนาธร บนการเมืองต่างวิถี
หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ลงจากเวทีปราศรัยใหญ่กลางทุ่งศรีเมือง และนั่งเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ก็ถึงคิวเจ้าชายเสื้อส้ม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเวทีปราศรัยบ้าง
สมรภูมิ นายก อบจ.อุดรธานี กลายเป็นศึกเลือกตั้งระดับชาติ สื่อกระแสหลักให้ความสนใจ หยิบจับคำพูดของทักษิณ และพิธา บนเวทีหาเสียงไปขยายต่อ จนกลายเป็นศึกวิวาทะข้ามค่าย
อย่างเช่นประเด็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง” ของฝ่ายเพื่อไทย พิธาก็โต้กลับว่า อุดรธานีเป็นเมืองหลวงของฝ่ายประชาธิปไตย
“คนอุดรธานี ไม่มีเจ้าของ อุดรธานีเป็นเมืองหลวงของประชาธิปไตย ซึ่งมีหลายเฉด บางคนเลือกพรรคเพื่อไทย บางคนเลือกพรรคก้าวไกล บางคนก็เลือกพรรคไทยสร้างไทย”
พัฒนาการด้อมส้มอุดรฯ
ย้อนไปดูการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ปี 2563 มีผู้สมัครทั้งหมด 7 คน ผลปรากฏว่า วิเชียร ขาวขำ พรรคเพื่อไทย ได้ 325,933 คะแนน รองลงมาคือ ฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ คณะก้าวหน้า ได้ 185,801 คะแนน
นอกนั้นเป็นผู้สมัครอิสระ 3 คน ได้เฉลี่ย 3 หมื่นคะแนน และอีก 2 คนได้ไม่ถึง 2 หมื่นคะแนน
การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ ปีนี้ มีผู้สมัคร 3 คน ที่เป็นตัวแทนขั้วสีชัดเจนคือขั้วสีแดง ศราวุธ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย ที่มีฐานเสียง สส.อุดรฯ 7 คน บวก สส.อุดรฯ พรรคไทยสร้างไทย 1 คน
ขั้วสีส้ม คณิศร ขุริรัง พรรคประชาชน ที่มีฐานเสียง สส.อุดรฯ 1 คน ,ส.อบจ.อุดรฯ 5 คน ,นายกเทศมนตรี 3 แห่ง และนายก อบต. 9 แห่ง
ขั้วสีเหลือง/นกหวีด ดนุช ตันเทอดทิตย์ อดีตแกนนำพันธมิตรอุดรฯ และอดีตแกนนำ กปปส.อุดรฯ
จะว่าไปแล้ว นับแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 ส้มเมืองอุดรฯ มีพัฒนาเติบโตขึ้นทุกการเลือกตั้ง
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปราศรัยบนเวทีมีใจความตอนหนึ่งว่า มีการพูดถึงว่าที่ตนกลับมาจากอเมริกาเพราะกลัวแพ้ แต่สำหรับนักการเมืองแบบตนนั้นไม่มีกลัวแพ้ เพราะแพ้มาเยอะแล้ว แต่ชนะมาก็แยะเหมือนกัน
อย่างการเลือกตั้งที่อุดรธานี ปี 2562 อนาคตใหม่ได้ 1.4 แสนคะแนน เลือกตั้ง อบจ.อุดรธานี ปี 2563 ได้ 1.8 แสนคะแนน และเลือกตั้งปี 2566 ได้มา 2.2 แสนคะแนน นี่คือการพัฒนา
สองศาสดาสองวิถี
ก่อนหน้านี้ กูรูการเมืองบางสำนักจะมองว่า ทักษิณ ชินวัตร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีดีลลับ พร้อมแตกหักชนชั้นนำ หรือหัวแถวอนุรักษนิยม
เอาเข้าจริงแล้ว สองศาสดาของสีแดงและสีส้ม มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน แม้ทักษิณและธนาธร จะมีภาพเป็นตัวแทนของทุนใหญ่
ทักษิณรวยแล้วจึงอยากเล่นการเมือง ขณะที่ธนาธรทิ้งความรวยมาสานฝันในวัยหนุ่ม สมัยเป็นนักกิจกรรมหัวเอียงซ้าย อยากทำการเมืองใหม่
ย้อนดูเส้นทางการเมืองของทักษิณ สมัยไทยรักไทยรุ่งเรือง ไม่ได้คิดจะรื้อโครงสร้าง ไม่คิดล้างบางพรรคข้าราชการ หรืออำมาตยาธิปไตย เพียงแค่ปฏิรูปกระทรวงทบวงกรม
ทักษิณเชื่อว่า ปากท้องดีต้องมาก่อน ซึ่งความสำเร็จในนโยบายเศรษฐกิจยุคพรรคไทยรักไทย ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย เชื่อมั่นจนมาถึงทุกวัน
ตรงข้ามกับธนาธร ที่มุ่งสร้างการเมืองใหม่-การเมืองดี ชุดนโยบายการเมืองที่ต้องการรื้อโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ โดนใจด้อมทุกเพศวัยจึงชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งโดยไม่ซื้อเสียง
ทักษิณและธนาธร มักถูกเรียกว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือศาสดา เพราะในทางนิตินัยไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองได้
อย่างไรก็ตาม ทักษิณมีภาพความเป็นเจ้าของพรรคสูง ธนาธรมีอิทธิพลทางความคิดอยู่บ้าง แต่ครอบงำแกนนำพรรคประชาชนได้
นี่คือความต่างของสองศาสดา และการเมืองต่างวิถีของเพื่อไทย-ประชาชน จึงไม่แปลกที่จะมีวิวาทะร้อนๆบนเวทีหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ