คอลัมนิสต์

กดขวัญส้ม “ทักษิณ” ต่อยอดชัยชนะ “อบจ.อุดรฯ” ไปต่อทุบ อบจ.สีน้ำเงิน

กดขวัญส้ม “ทักษิณ” ต่อยอดชัยชนะ “อบจ.อุดรฯ” ไปต่อทุบ อบจ.สีน้ำเงิน

25 พ.ย. 2567

ต่อยอดชัยชนะ “ทักษิณ” จากสนาม “อบจ.อุดรธานี” ตรึงฐานเสียงเดิม สู่เป้าหมาย 200 ที่นั่ง ทุบสีน้ำเงินและสกัดสีส้ม

ชนะตามคาด ทักษิณ ทำการบ้านหนัก อบจ.อุดรธานี ตรึงฐานเสียงเดิม รักษาเสื้อแดง ไม่ให้กลายเป็นเสื้อส้ม

 

โจทย์ใหญ่ภาคอีสาน ทักษิณ และเพื่อไทย สู่เป้าหมาย 200 ที่นั่งในสนามเลือกตั้ง สส.สมัยหน้า ทั้งทุบน้ำเงินและสกัดส้มไม่ให้โต

 

กลางดึกคืนวันที่ 24 พ.ย.2567 หลังทราบผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ทักษิณ ชินวัตร วิดีโอคอลขอบคุณชาวอุดรฯ มีบางประโยคที่ควรขีดเส้นใต้ “เลือกตั้งคราวหน้า ก็ให้ชัดกว่านี้อีกหน่อยนะครับ”

นั่นหมายถึงว่า น่าจะชนะเกินหลักแสน เหตุที่นายใหญ่ไปขึ้นเวทีหาเสียง 3 เวที 3 อำเภอ เพราะหวังผลให้เพื่อไทย “ชนะขาด”

 

เปรียบเทียบผลคะแนนนายก อบจ.อุดรธานี ปี 2567 ศราวุธ เพชรพนมพร ได้ 327,487 คะแนน ส่วน คณิศร ขุริรัง ได้ 268,675 คะแนน

 

ส่วนปี 2563 วิเชียร ขาวขำ เพื่อไทย ได้ 325,933 คะแนน และฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ คณะก้าวหน้า ได้ 185,801 คะแนน

 

ปี 2566 ผลคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ จ.อุดรธานี เพื่อไทย ได้ 328,084 คะแนน และก้าวไกล(ประชาชน) ได้ 229,386 คะแนน

 

พรรคสีส้มในอุดรธานี มีพัฒนาการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็เริ่มทรงตัวเหมือนกันคือ ประมาณ 2.2-2.6 แสนคะแนน

กดขวัญส้มปลุกใจแดง

 

เหตุใด ทักษิณ ชินวัตร จึงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ประหนึ่งว่าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ

 

ประการแรก เพื่อไทยอ่านเกมค่ายสีส้ม ที่ต้องการสร้าง “อุดรโมเดล” หวังเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่น เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ส้มสู้เพื่อแพ้แค่หลักหมื่น” หรือแอบลุ้นชนะค่ายสีแดง

 

ทักษิณจึงไปขึ้นเวทีที่เมืองอุดรฯ ด้วยหวังผลที่จะรักษา “ฐานเสียงเดิม” และประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ “200 ที่นั่ง” ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

 

ประการที่สอง กลยุทธ์ชนบทล้อมเมืองยังได้ผล ทำให้พรรคสีแดงชนะพรรคสีส้มแบบชนะขาด ในเขตอำเภอใหญ่อย่าง อ.เพ็ญ และ อ.บ้านดุง

 

นอกจากนี้ เพื่อไทยชนะขาดในเขต อ.ศรีธาตุ และ อ.วังสามหมอ ของ อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรฯ เพื่อไทย ดึงมาช่วยศราวุธ เพชรพนมพร

 

เมื่อศราวุธ เพชรพนมพร ชนะคณิศร ขุริรัง ด้วยคะแนนทิ้งห่าง 5.8 หมื่นคะแนน อาจไม่ใช่ผลการเลือกตั้งที่นายใหญ่ต้องการ แต่ก็ดีกว่าชนะพรรคสีส้มแค่ 1-2 หมื่นคะแนน

 

ยุทธการทุบสีน้ำเงิน

 

เมื่อกดขวัญทัพสีส้มที่สังเวียนเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ เป้าหมายต่อไปของนายใหญ่ คงจะไปปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครก็คือ บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม และศรีสะเกษ

 

เนื่องจากทั้ง 4 อบจ.อยู่ใต้ร่มธงสีน้ำเงิน ที่ดูแลโดยครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ และทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย

 

จ.บึงกาฬ แว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ เป็นภรรยาของทรงศักดิ์ ทองศรี หลังยึดท้องถิ่นได้ ภูมิใจไทยก็ได้ สส. 2 ที่นั่งจากทั้งหมด 3 ที่นั่ง

 

นิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ เพื่อไทย จึงเจรจากับแกนนำพรรค ขอส่งผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬ เพื่อล้มแชมป์บ้านใหญ่ “ทองศรี”

 

ล่าสุด นิพนธ์ เตรียมส่ง ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น อดีตผู้สมัครนายก อบจ.บึงกาฬสมัยที่แล้วมาสวมเสื้อแดง ทำศึกล้างตากับแว่นฟ้า ทองศรี

 

จ.นครพนม มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม วางตัวมือขวา อนุชิต หงษาดี นายก อบต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ ลงสมัครนายก อบจ.นครพนมในนามทีมฮักนครพนม พรรคเพื่อไทย

 

แชมป์เก่า ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม ก็มีบิดา “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาฯ เป็นเสนาธิการใหญ่ พร้อมกับ สส.นครพนม 2 คน

 

จ.มหาสารคาม คมคาย อุดรพิมพ์ นายก อบจ.มหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย ต้องเจอคู่แข่งหน้าใหม่ พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ลงสนามในนามเพื่อไทย

 

จ.ศรีสะเกษ วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ สายพรรคภูมิใจไทย ต้องเจอ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ อดีต สส.ศรีสะเกษ เพื่อไทย

 

ปัจจุบัน วิวัฒน์ชัย เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) จึงมีข่าวว่า นายใหญ่จะลงไปเยี่ยมพี่น้องเสื้อแดงศรีสะเกษ

 

ถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการชนะเลือกตั้งใหญ่ ก้าวแรกก็ต้องเอาชนะเลือกตั้งท้องถิ่นให้ทุกสนามที่ส่งคนลงแข่งขันในช่วงต้นปี 2568