คอลัมนิสต์

ปลอบขวัญ “ทักษิณ” บินอุบลฯ อุ้ม “เกรียง” ปิดจุดเสี่ยงพ่ายส้มเปิดทางแป้งมัน

ปลอบขวัญ “ทักษิณ” บินอุบลฯ อุ้ม “เกรียง” ปิดจุดเสี่ยงพ่ายส้มเปิดทางแป้งมัน

29 พ.ย. 2567

ไม่เหมือนอุดรฯ “ทักษิณ” ไปอุบลฯอุ้ม “เกรียง” กลัวแพ้ “สิทธิพล” ค่ายส้ม ตัดแต้มเขตเมือง เปิดทางค่ายแป้งมันเข้าป้าย

ใจอ่อน ทักษิณ บินไปเมืองอุบลฯอุ้ม เกรียง กลัวแพ้เด็กเก่าเพื่อไทย สิทธิพล สวมเสื้อส้มลงชนลูกพี่เก่า-เสี่ยกานต์

 

ศึกสามเส้าสมรภูมิ อบจ.อุบลฯ เพื่อไทย-ประชาชน-ค่ายแป้งมัน จุดชี้ขาดแพ้ชนะของ กานต์ คือ เขตในเมือง จึงขอพึ่งบารมีนายใหญ่

 

วันที่ 11 ธ.ค.2567 ทักษิณ ชินวัตร เตรียมไปพบปะ และเยี่ยมเยียนแกนนำเขตเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของ จ.อุบลฯ ที่บ้านพักของ วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สส.อุบลราชธานี เขต 1 พรรคเพื่อไทย ตามคำเชิญของ เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย

การที่ ทักษิณ ไปเยือนอุบลฯเที่ยวนี้ เน้นการให้กำลังใจ และไม่มีการขึ้นเวทีปราศรัยเหมือนที่ จ.อุดรธานี

 

สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ย้ำว่า จะไม่มีการปราศรัยหาเสียงช่วย กานต์ กัลป์ตินันท์ และเหตุที่ทักษิณ ไปก็เป็นเพียงการไปให้กำลังใจเท่านั้น

 

ทำไมไม่เหมือนที่ จ.อุดรธานี คงมาจากกรณี “มาดามกบ” จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล น้องสะใภ้ “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ที่ลงสมัครในนามกลุ่มอิสระ จึงเปลี่ยนจากรูปแบบการหาเสียง เป็นให้กำลังใจตระกูลกัลป์ตินันท์

 

อนึ่ง วันที่ 7 ธ.ค.2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีคิวลงพื้นที่ช่วย สิทธิพล เลาหะวนิช ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลฯ พรรคประชาชน หาเสียงที่ตลาดพุ่มพวง หัวเรือ อ.เมืองอุบลฯ

สิทธิพล เลาหะวนิช มาแรงในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี

 

เขตเมืองชี้ชะตาเกรียง

 

ภูมิทัศน์การเมืองเมืองดอกบัวบาน แยกเป็นเขตเมืองและเขตชนบท ส่วนเขตในเมืองคือ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งจุดแข็งของตระกูลกัลป์ตินันท์

 

เขตชนบท ก็คือ อำเภอรอบนอกทั้งหมด รวมถึงอำเภอตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของ “มาดามกบ” แห่งตระกูลหวังศุภกิจโกศล 

 

สำหรับสมรภูมินายก อบจ.อุบลฯ ในเขตเมือง คู่ต่อสู้ที่น่าเกรงขามของกานต์ไม่ใช่จิตรวรรณ แต่เป็น “เสี่ยน้อย” สิทธิพล เลาหะวนิช พรรคประชาชน

 

สิทธิพล เลาหะวนิช เคยเป็นผู้สนับสนุนกานต์ กัลป์ตินันท์ สมัยที่แล้ว จึงได้ตำแหน่งรองนายก อบจ.อุบลฯ ชาวเมืองอุบลฯจึงเรียกเขาว่า “รองน้อย” จนติดปาก

 

เสี่ยน้อย เป็นนักธุรกิจส่งออก “พริกขี้หนู” รายใหญ่ของประเทศ มีมารดา-ประภาพร เลาหะวนิช เป็นนายก อบต.หัวเรือ

 

การเลือกตั้ง สส.อุบลฯ สมัยที่แล้ว พรรคสีส้มมาแรงมาก อย่างผลการเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ จ.อุบลฯ ปี 2566 พรรคเพื่อไทย ได้411,239 คะแนน ส่วนพรรคก้าว ได้ 320,831 คะแนน

 

ที่สร้างความตกใจให้เสี่ยเกรียง คือ การเลือกตั้ง สส.อุบลฯ เขต 1 อ.เมืองอุบลฯ วรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ได้ 32,468 คะแนน เฉือนชนะวิศรุต สวัสดิวร พรรคก้าวไกล(พรรคประชาชน)ที่ได้ 31,112 คะแนน ห่างกันแค่พันแต้ม

 

เมื่อพรรคประชาชนตัดแต้มพรรคเพื่อไทยในเขต อ.เมืองอุบลฯ และ อ.วารินชำราบ เท่ากับเปิดทางให้จิตรวรรณ แทรกเข้าป้าย ด้วยแนวทาง “ป่าล้อมเมือง”

 

แป้งมันป่าล้อมเมือง

 

จุดแข็งของ จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ค่ายแป้งมันคือ พื้นที่รอบนอกเขตเมือง อย่างที่ทราบกัน พรรคไทรวมพลัง ของค่ายแป้งมันอุบลฯ ได้รับชัยชนะ 2 เขต 3 อ.ม่วงสามสิบ และเขต 10 อ.น้ำยืน

 

มิหนำซ้ำ พันธมิตรของจิตรวรรณ เป็น สส.จากพรรคภูมิใจไทย 3 คน และพรรคไทยสร้างไทย 1 คน ที่มีฐานเสียงอยู่ใน อ.เดชอุดม อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก อ.โขงเจียม อ.สิรินธร อ.ศรีเมืองใหม่ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.ตระการพืชผล

 

เฉพาะตระกูลจินตะเวช ที่สังกัดภูมิใจไทย ได้เปิดหน้าหนุนมาดามกบเต็มตัว ทำให้พื้นที่ อ.เดชอุดม น่าจะอยู่ในมือมาดามกบเบ็ดเสร็จ

 

ทีมหาเสียงของจิตรวรรณ จึงวางยุทธศาสตร์หาเสียงตามแนวทาง “ป่าล้อมเมือง” และทุ่มทรัพยากรเพื่อการเลือกตั้งเต็มที่

 

ทักษิณคงประเมินสถานการณ์ได้ จึงปรับแผนไปอุบลฯ เป็นเพียงการให้กำลังใจเสี่ยเกรียง ในฐานะผู้ที่ภักดีต่อบ้านจันทร์ส่องหล้ามายาวนาน