คอลัมนิสต์

ขาลงรัวๆ "ประวิตร" อำนาจใหม่ยึด "บ้านอัมพวัน" เสียที่มั่นลับกีฬา-การเมือง

ขาลงรัวๆ "ประวิตร" อำนาจใหม่ยึด "บ้านอัมพวัน" เสียที่มั่นลับกีฬา-การเมือง

04 ธ.ค. 2567

สิ้นสภาพ “ประวิตร” พ้น “บ้านอัมพวัน” เสียที่มั่นการเมือง-กีฬา เจอกลเกมอำนาจใหม่ หักดิบยึดประมุขโอลิมปิกไทย

ขาลงรัวๆ ประวิตร พ้นบ้านอัมพวัน เสียที่มั่นการเมือง-กีฬา เจอกลเกมอำนาจใหม่ หักดิบยึดโอลิมปิกไทย

หลังลุงป้อม แพ้เลือกตั้งประมุขกีฬาทางน้ำฯสุดช็อกโลก ก็รักษาเก้าอี้ประธานโอลิมปิกฯ หรือประมุขบ้านอัมพวันไว้ไม่ได้

พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชั่วโมงนี้ผจญมรสุมทั้งเรื่องการเมือง และเรื่องส่วนตัว

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร ต้องพ้นจากประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ไปโดยปริยาย เมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับรองการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย ชุดใหม่ โดยการนำของ พล.ท.บุญชัย เกษตรตระการ นายกสมาคมฯ

เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร พ้นจากนายกสมาคมกีฬาทางน้ำฯ ซึ่งตามเงื่อนไขของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานโอลิมปิกฯ จะต้องเป็นนายกสมาคมกีฬาฯ

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังจะไม่มีคุณสมบัติในการลงชิงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ วาระใหม่ ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2568

“บ้านอัมพวัน” ที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ถ.ศรีอยุธยา เยื้องบ้านสี่เสาเทเวศร์เดิม ที่เปรียบเป็นที่มั่นเชิงสัญลักษณ์ทางอำนาจ-บารมี ของลุงป้อมก็รักษาไว้ไม่ได้

คงเหลือแค่ “บ้านป่า” ที่ตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ ซึ่งจะเป็นที่มั่นสุดท้าย ก่อนถึงเวลาประกาศวางมือทางการเมือง อำนาจวาสนาบารมี

7 ปีที่แล้ว “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อุปนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยสมัยนั้น เป็นคนวางแผนยึดบ้านอัมพวัน

เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2560 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันชื่อ สมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทย) ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ แทน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ประกาศวางมือ หลังจากดำรงตำแหน่งมา 4 สมัย 16 ปี

วันที่ 1 พ.ย.2564 พล.อ.ประวิตร ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ สมัยที่ 2 พล.อ.ประวิตร ได้นั่งประธานโอลิมปิกไทย ก็เป็นไปตามวาสนา บารมี เมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 ลุงป้อมเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ในรัฐบาล คสช.

ดังนั้น พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ จึงเบ่งบานบารมีนั่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ตามการสนับสนุนของขาใหญ่กีฬาไทย

สิ้นอำนาจเสียที่มั่นลับ

หลังทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทย พร้อมดีลลับรัฐบาลข้ามขั้ว จากรัฐบาลเศรษฐา ถึงรัฐบาลแพทองธาร

สำหรับพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ มีความทะเยอทะยานสูง แต่กำลังในมือไม่พอ ทั้งจำนวน สส. และ สว. จึงต้องเป็นแค่ สส.บัญชีรายชื่อ

ลุงป้อมไม่ปล่อยวาง ยังเล่นเกมนิติสงครามสอยเศรษฐา พ้นนายกฯ กรณีแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน นั่ง รมต.สำนักนายกฯ

เมื่อเกิดรัฐบาลแพทองธาร ก็นำมาสู่การเปิดศึกบ้านป่ารอยต่อ-บ้านจันทร์ส่องหล้า ผ่านสมรภูมินิติสงคราม

แกนนำพรรคเพื่อไทย จึงมีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล จากนั้นก็มีปฏิบัติเอาคืนจากปีกผู้ถืออำนาจใหม่เป็นระยะๆ

รวมถึงแวดวงคนกีฬาเมาท์กันสนั่นเมือง เป้าหมายต่อไปของนายใหญ่คือยึด “บ้านอัมพวัน” หรือสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกไทย

ระยะหลัง ลุงป้อมใช้บ้านอัมพวัน เป็นฐานบัญชาการการกีฬา-การเมือง ไม่ต่างจากบ้านป่ารอยต่อฯ เพราะมีคนแอบแจกข่าวอยู่บ่อยๆว่า ได้มีการนัดหมาย สส.ต่างพรรคไปเจอลุงป้อมที่บ้านหลังนี้

เมื่อรัฐบาลแพทองธาร มีชื่อ “บอย” สรวงศ์ เทียนทอง ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา แทนเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช คอการเมืองก็ประเมินกันว่า ได้เวลาเช็กบิลลุงป้อมแน่

ต้นเดือน พ.ย.นี้ มีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทยฯ ปรากฏว่า พล.ท.บุญชัย เกษตรตระการ ได้ 231 เสียง ชนะลุงป้อมที่ได้เพียง 22 เสียง

พล.ท.บุญชัย รองจเร กอ.รมน. มาจากไหนไม่รู้ แต่ผงาดคว่ำพี่ใหญ่บ้านป่าฯได้ สะท้อนว่า ลุงป้อมขาลงอัสดงของจริง