โบนัสเลือดแท้ “ทักษิณ” โดดอุ้ม “เกรียง-กานต์” หยุดบ้านใหญ่ 7 ตระกูลยึดอุบลฯ
สู้เพื่อเลือดแท้บ้านจันทร์ “ทักษิณ” บินอุ้ม “เกรียง-กานต์” สู้ศึก อบจ.อุบลฯ หยุดค่ายแป้งมัน สมคบก๊วนแปรพักตร์
เลือดแท้เพื่อไทย ทักษิณ บินอุ้ม เกรียง สู้ศึก อบจ.อุบลฯ ค่ายแป้งมัน สมคบผู้แปรพักตร์ นายใหญ่ฝังแค้นก๊วนสุพล
เกรียง-กานต์ ไม่ใหญ่จริง เลือกตั้งท้องถิ่นแพ้มากกว่าชนะ ถ้าหนนี้ กบ จิตรวรรณ ยึด อบจ.อุบลฯสำเร็จ ตระกูลกัลป์ตินันท์ ส่อสูญพันธุ์
แม้วันพุธที่ 11 ธ.ค.2567 ทักษิณ ชินวัตร จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ปราศรัยใหญ่ต่อหน้าหัวคะแนน 4,000 คนของเพื่อไทยอุบลฯ จาก 25 อำเภอ เพียงเท่านี้ เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย ก็ไม่ลืมพระคุณนายใหญ่แล้ว
ช่วงที่ทักษิณไม่ได้อยู่เมืองไทย 17 ปี ทุกครั้งที่เสี่ยเกรียง จัดกิจกรรมรวมพลคนรักทักษิณ ก็จะต่อสายให้คนแดนไกลโฟนอินมาพูดคุยกับคนเสื้อแดงอยู่เป็นประจำ
“เสี่ยเบี้ยว” เกรียง กัลป์ตินันท์ สนิทสนมกับ เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จึงเดินทางไปนายใหญ่แถวฮ่องกง ,สิงคโปร์ และดูไบ อยู่บ่อยครั้ง
เกรียง-สุพล : คู่รักคู่แค้น
20 ปีที่แล้ว สมัยพรรคของทักษิณเฟื่องฟู ในเมืองอุบลฯ ก็มีกรณีเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน นั่นคือ “เสี่ยเบี้ยว” เกรียง กัลป์ตินันท์ และสุพล ฟองงาม
จังหวะที่เกิดคดียุบพรรคไทยรักไทย เกรียงเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค จึงต้องไปอยู่ “บ้านเลขที่ 111” เป็นเวลา 5 ปี
สุพล ฟองงาม กลายเป็น สส.อุบลฯ ผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นขึ้นมา สุพลจึงได้เป็น รมช.มหาดไทย และรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ในรัฐบาลสมัคร
กระทั่งปี 2566 เสี่ยเกรียง จึงได้เป็น รมช.มหาดไทย สมัยรัฐบาลเศรษฐา ถือว่าเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิตนักการเมือง
เกรียง เป็น สส.อุบลฯ สมัยแรกปี 2538 สังกัดพรรค ปชป. ก่อนจะย้ายไปพรรคความหวังใหม่ ซึ่งสุพล ก็เป็น สส.อุบลฯ ครั้งแรกในปี 2539
ปี 2544 เกรียงและสุพล ย้ายตาม เสนาะ เทียนทอง มาอยู่พรรคไทยรักไทย สังกัดซุ้มวังน้ำเย็น แต่ภายหลัง เกรียงทิ้งไปอยู่ซุ้มวังบัวบานของเจ๊แดง
ปี 2561 สุพล ฟองงาม จับมือ อดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์ บ้านใหญ่ตระการพืชผล และ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ทิ้งนายใหญ่ ไปซบลุงป้อม พรรคพลังประชารัฐ
หลังเลือกตั้งปี 2562 นายใหญ่ปลื้มเสี่ยเบี้ยวมากเป็นพิเศษ เพราะเพื่อไทยอุบลฯ ปราบงูเห่าในสีเสื้อ พปชร.พ่ายราบคาบ
ปลายปี 2563 เลือกตั้งนายก อบจ.อุบลฯ กานต์ กัลป์ตินันท์ น้องชายเสี่ยเกรียง ชนะเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ได้กลุ่มสุพล ฟองงาม หนุน
ต้นปี 2564 เลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครอุบลฯ พิศทยา ไชยสงคราม ลูกสะใภ้เสี่ยเกรียง ชนะประชา กิจตรงศิริ กลุ่มคุณธรรม ของตระกูลโควสุรัตน์ และ พล.ต.อ.ชิดชัย
ปี 2565 เสี่ยเกรียง นำคณะไปพบทักษิณที่สิงคโปร์ เพื่อรับอาญาสิทธิ์ในการดูแลสนามเลือกตั้งอีสานใต้ อันเนื่องมาจากผลงานปราบงูเห่าเมืองอุบลฯ
ศึกแค้นคนกันเองไม่จบ
ตลอดระยะเวลา 30 ปี กานต์ กัลป์ตินันท์ ลงสมัครนายก อบจ.อุบลฯ 6 ครั้ง ชนะเลือกตั้ง 3 ครั้ง และช่วงที่แพ้อีก 3 ครั้งนั้น ตระกูลกัลป์ตินันท์ แพ้ตระกูลโควสุรัตน์ ที่จับมือกับสุพล ฟองงาม และอดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์
ปี 2547 พรชัย โควสุรัตน์ ตัวแทนบ้านใหญ่ ส.เขมราฐ ในนามกลุ่มคุณธรรมชนะกานต์ กัลป์ตินันท์ ได้เป็นนายก อบจ.อุบลฯ สมัยแรก
ปี 2551 พรชัย โควสุรัตน์ ชนะกานต์ กัลป์ตินันท์ ขาดลอย คะแนนทิ้งห่างกัน 2 แสนคะแนน ทั้งที่ สส.อุบลฯ พรรคพลังประชาชน ประกาศหนุนน้องเกรียง ซึ่งมีรายงานว่า เสี่ยเกรียงถูกพวกเดียวกันหักหลัง
ปี 2555 พรชัย โควสุรัตน์ ชนะพิเชษฐ์ ทาบุตดา หรือดีเจต้อย ชักธงรบ กลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์สายเสี่ยเกรียง
ปี 2563 กานต์ กัลป์ตินันท์ จึงสางแค้นสำเร็จ เอาชนะ “ตี๋เล็ก” เชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ และสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ กลุ่มคุณธรรม
สาเหตุหนึ่งที่ขั้วไม่เอาเกรียงแพ้นายก อบจ. เพราะตัดคะแนนกันเอง ระหว่างตี๋เล็ก-นายกแอน สมปรารถนา
ศึกท้องถิ่นปลายปี 2567 เหมือนฉายหนังม้วนเก่า ขั้วเกรียง ปะทะขั้วใหม่ มาดามกบ ที่มีสุพล ฟองงาม อดิศักดิ์ โภคกุลกานนท์ และตระกูลโควสุรัตน์ ให้การสนับสนุน