คอลัมนิสต์

ขุดอดีต “ทักษิณ” สนิทหลานป๋าดุง “พิธา” เหตุดีลลับปิดทางแดงรักส้ม

ขุดอดีต “ทักษิณ” สนิทหลานป๋าดุง “พิธา” เหตุดีลลับปิดทางแดงรักส้ม

11 ม.ค. 2568

จาก “พิธา” เด็กฝึกงาน ทรท. สู่ผู้ร่วมชะตากรรม “ทักษิณ”ในรัฐประหาร 2549 ดีลการเมืองลี้ลับบีบให้ “แดง” ไม่รัก “ส้ม”

ขุดอดีต ทักษิณ ก็คุ้นเคยตระกูลลิ้ม พิธา ก้าวแรกสู่การเมืองยุคไทยรักไทย ก่อนร่วมชะตากรรมรัฐประหาร 2549

 

ดีลการเมืองลี้ลับ บีบให้ ทักษิณ แยกทาง พิธา แปรเปลี่ยนจากมิตรเป็นศัตรูบนเวทีเลือกตั้ง เมื่อ พท.ถือธงนำอนุรักษ์นิยมใหม่

 

การเมืองไม่ใช่การแต่งงาน กองทัพนักข่าวนับร้อยชีวิตแห่ไปทำข่าวงานแต่ง สส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน ที่โรงแรมอัศวิน เขตหลักสี่ เมื่อค่ำวันที่ 10 ม.ค.2568

เนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นประธานฝ่ายเจ้าบ่าว ธนาธร โล่ห์สุนทร และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นประธานฝ่ายเจ้าสาว (รภัสสรณ์ นิยะโมสถ)

 

สำหรับบรรยากาศด้านในห้องฉลองมงคลสมรส พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรณิการ์ วานิช ได้เข้าไปพูดคุยทักทายกับ ทักษิณ ซึ่งแกนนำสองพรรคนั่งอยู่โต๊ะใกล้ๆกัน

 

พิธา รู้จักกับ ทักษิณ มาตั้งแต่ปี 2544 เช่นเดียวกับ ช่อ พรรณิการ์ ที่เคยทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ของตระกูลชินวัตร

 

จริงๆแล้ว ทักษิณ กับแกนนำสีส้ม ไม่ว่าจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต่างมีดีเอ็นเอฝ่ายประชาธิปไตย เพียงแต่ตระกูลชินวัตร มีเงื่อนไขส่วนตัวบางประการ ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องแยกทางพรรคประชาชน

 

การเมืองลี้ลับเสมือนไฟต์บังคับ ทำให้ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยจำต้องถือธงนำขั้วอนุรักษ์นิยมใหม่

ทักษิณ ทักทายคนคุ้นเคย พิธา และ ช่อ พรรณิการ์

 

ทดลองงานที่ ทรท.

 

20 กว่าปีที่แล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับตระกูลชินวัตร และพรรคไทยรักไทย

 

เนื่องจาก “ทิม” พิธา เป็นบุตรชายของ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์

 

ในยุทธจักร “สุภาพบุรุษผมขาว” ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ คือ คนสนิทของทักษิณ และพจมาน ผดุงเดินตาม “นายทักษิณ” ตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างอาณาจักรชินคอร์ป จนมาถึงยุคพรรคไทยรักไทย

 

รัฐบาลทักษิณสมัยแรก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจอีกตำแหน่งหนึ่ง ทักษิณตั้งที่ปรึกษารองนายก รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจชื่อ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์

 

ช่วงนี้เองที่ผดุงส่งหลานชายชื่อ ทิม พิธา เข้าไปเป็นทีมงานของสมคิด เรียนรู้เรื่องการเมืองอยู่ระยะหนึ่ง ทิมเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้รู้จักนักการเมืองในสภาฯหลายคนในช่วงนั้น

 

หนุ่มทิม ทำงานในทีมงานของรองนายกฯสมคิด อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

 

อาจกล่าวได้ว่า ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้เป็นอาของ พิธา คือผู้ที่เปิดทางให้หลานชายได้เข้าไปสัมผัสโลกการเมืองในยุคทองของทักษิณ และพรรคไทยรักไทย 

 

ร่วมชะตากรรมรัฐประหาร

 

ก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปเปิดอกคุยกับ สรยุทธ สุทัศนจินดา ในช่องยูทูปกรรมกรข่าว คุยนอกจอ โดยช่วงหนึ่ง พิธา เล่าความหลังเรื่องรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และการสูญเสียบิดาแบบกะทันหัน

 

“คุณพ่อผมเสียชีวิตในคืนรัฐประหาร 2549 ผมอยู่กับนายกฯทักษิณ ที่นิวยอร์ก ผมบินกลับมาที่กองทัพอากาศ...”

 

เป็นครั้งแรกที่ พิธา บอกกับด้อมส้มว่า เขาเคยร่วมชะตากรรมกับทักษิณในวันที่มีการรัฐประหารในเมืองไทย

 

จริงๆแล้ว พิธา เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Who Magazine เมื่อปี 2551 เกี่ยวกับการยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549

 

เวลานั้น พิธา กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่บอสตัส สหรัฐฯ ส่วนผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ ติดตามอดีตนายกฯทักษิณ มาประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก โดยผดุงเป็นคนแจ้งข่าวให้หลานชายทราบว่า พ่อเสียชีวิตแล้ว

 

พิธา นั่งเครื่องบินจากบอสตันมายังนิวยอร์ก เขาเป็นห่วงแม่กับน้องชาย เพราะไม่มีพ่อครอบครัวจะอยู่อย่างไร จึงตัดสินใจบินกลับไทยทันที แต่ไม่มีไฟล์ทบินกลับไทยโดยตรง

 

ผดุง จึงพาหลานชาย-ทิม นั่งเครื่องบินเช่าเหมาลำของคณะทักษิณไปที่อังกฤษ เมื่อส่งทักษิณและคณะลงที่ลอนดอนแล้ว เครื่องบินลำนั้นก็เดินทางกลับไทย

 

จากผู้ร่วมชะตากรรมในคืนรัฐประหาร 2549 วันนี้ทั้งคู่กลายเป็นคู่แข่งทางการเมือง และนับวัน “แดง-ส้ม” ยิ่งจะเหินห่างกันออกไปเรื่อยๆ