ชิง อบจ.เมืองสมุทร "พิธา" หยุด "เจ้าพ่อปากน้ำ" ยุคไร้เงาคนอัศวเหม
บ้านใหญ่แซ่จึง "พิธา-ธนาธร" ทวงคืน "อบจ.สมุทรปราการ" ล้างเผ่าพันธุ์เจ้าพ่อปากน้ำ ยุคไร้เงา "อัศวเหม"
ส้มสู้ฟัด พิธา ปลุกกระแสทวงคืน อบจ.สมุทรปราการ ล้างเผ่าพันธุ์เจ้าพ่อปากน้ำ บ้านใหญ่พึ่งพาอุปถัมภ์ท้องถิ่น
บ้านใหญ่จึงรุ่งเรืองกิจทุ่มสุดตัว ธนาธร ขอล้างตาศึกท้องถิ่นปากน้ำสมัยที่แล้ว สังเวียน อบจ. ก็แพ้ยับ อบต.ก็พ่ายรวด
พรรคประชาชน เตรียมเปิดปราศรัยใหญ่ช่วย “หมอเอ็กซ์” นพดล สมยานนทนากุล ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ และผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.สมุทรปราการ ในวันที่ 25 ม.ค. 2568 ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ
แกนนำพรรคสีส้ม ต้องการปลุกกระแส “พายุสีส้ม” เหมือนช่วงการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ผ่านการปราศรัยใหญ่ชนิดทิ้งทวน
ก่อนจะถึงวันปราศรัยใหญ่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงหาเสียงช่วย “หมอเอ๊กซ์” ที่ตลาดแบล็คมาเก็ต ต.ท้ายบ้าน และตลาดปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น
พิธา ชี้ว่า งบประมาณของ อบจ.สมุทรปราการ กว่า 2,500 ล้านบาท แต่ถูกจัดสรรมาให้ด้านการศึกษา 3% ด้านสาธารณสุขเพียง 0.7% และด้านสิ่งแวดล้อม 0.2% ซึ่งถูกจัดสรรไม่ตรงตามความต้องการ และไร้ประสิทธิภาพ ทั้งที่ จ.สมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม
“หากพี่น้องประชาชนอยากเห็นงบประมาณถูกนำไปใช้ให้ตรงความต้องการ ขอให้เลือกนายนพดล เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ” พิธา กล่าว
พรรคประชาชนคาดหวังสูงที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ ปี 2568 เนื่องจากเมื่อปี 2566 พรรคสีส้มกวาด สส.ปากน้ำทั้ง 8 เขต
บ้านใหญ่อัศวเหมแพ้ราบคาบ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่พ่ายชนิดไม่ได้ลุ้น ทั้งที่เมื่อปี 2550 และปี 2554 ได้เกิดปรากฏการณ์แดงทั้งปากน้ำ
โจทย์ยากคนแซ่จึง
การเลือกตั้ง สส. กับการเลือกตั้งท้องถิ่น มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่อง “กระแส” บ้านใหญ่จึงรุ่งเรืองกิจ พยายามทดลองกับ อ.บางพลี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ
ปี 2563 ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ คณะก้าวหน้า พ่าย นันทิดา แก้วบัวสาย ตัวแทนบ้านใหญ่อัศวเหม ด้วยผลคะแนนที่ทิ้งห่างแสนกว่าแต้ม
ปี 2565 “ธนาธร” ส่งผู้สมัครนายก อบต. 3 แห่ง ในพื้นที่ อ.บางพลี ที่อยู่รายรอบอาณาจักรไทยซัมมิทฯ ของคนแซ่จึง
ปรากฏว่า คณะก้าวหน้าแพ้หมด โดยผู้ชนะคือ นายก อบต.คนเก่า สะท้อนว่า ตัวบุคคลและระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังแข็งแกร่ง
หลังปรากฏการณ์ “ส้มทั้งปากน้ำ” เมื่อ 17 มี.ค.2567 มีเลือกตั้งนายก อบต.บางปลา อ.บางพลี ผลก็คือ วีระ สีสาม อดีตรองนายก อบต.บางปลา ชนะโยธิน แก้วนุ่ม พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นทีมงานของ นิตยา มีศรี สส.สมุทรปราการ เขต 5 (เขต อ.บางพลี)
แสดงว่า กระแสการเมืองระดับชาติ ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นแม้แต่น้อย ธนาธรแพ้คาสนาม อ.บางพลี อีกครั้ง
แม้ปี 2564 สมพงษ์ วีรชาติวัฒนา คณะก้าวหน้า ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลด่านสำโรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ แต่ตระกูลวีรชาติวัฒนา ก็เป็นบ้านใหญ่หลังหนึ่งในด่านสำโรง
ปี 2552 “หมวย” สรชา วีรชาติวัฒนา น้องสาวของสมพงษ์ ได้รับเลือกเป็น สส.สมุทรปราการ พรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งซ่อม
ม้าทองคำยุคพ่อบ้าน
บ้านใหญ่ม้าทองคำ ลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรปราการ ปี 2568 โดยผู้นำคนใหม่คือ สุนทร ปานแสงทอง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไม่มีคนในตระกูลอัศวเหม เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
แม้แต่ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. ก็ยังไม่มีชื่อลูกหลานตระกูลอัศวเหม ต่างจากยุคที่ “เสี่ยเอ๋” ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นผู้นำกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า
วัฒนา อัศวเหม ประมุขบ้านม้าทองคำ ที่พำนักอยู่ในกัมพูชา ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้อดีตพ่อบ้าน สุนทร ปานแสงทอง เป็นแม่ทัพใหญ่
ดังนั้น ผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. จึงเต็มไปด้วยเครือข่ายเจ้าพ่อปากน้ำ อย่าง สมควร ชูไสว อดีตประธานสภา อบจ. และชนะ หงวนงามศรี อดีตรองประธานสภา อบจ.
รวมถึงตัวแทนบ้านใหญ่ใน อ.บางพลี อย่าง “ป๋าโอด” ฉะโอด รุ่งเรือง อดีตแกนนำกลุ่มบางพลีรุ่งเรือง, วารี นกขมิ้น ตัวแทนบ้านใหญ่ราชาเทวะ และ พ.ต.อ.กรวัฒน์ หันประดิษฐ์ อดีตผู้สมัคร สส.สมุทรปราการ พรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทย ไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. จึงมีนักการเมืองท้องถิ่นสายเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง หันมาช่วยเครือข่ายเจ้าพ่อปากน้ำ หวังสกัดค่ายสีส้ม