
47 อบจ.เดือด "ทักษิณ-เนวิน" ชิงดำอีสาน "ธนาธร" ขอหักปากกาเซียน
กินรวบ 47 อบจ. "ทักษิณ-เนวิน" ชิงดำ อบจ.อีสาน "บ้านใหญ่" คาดเข้าป้ายทุกพรรค "ธนาธร" ขอแจ้งเกิด
รบเดือด ทักษิณ-เนวิน ชิงดำ อบจ.อีสาน ธนาธร ขอแค่แจ้งเกิด บทสรุปบ้านใหญ่ทุกขั้วสี กินรวบ 47 จว.
ตรวจแถว อบจ.บ้านใหญ่ มาครบทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย ปชป. รทสช. พปชร. ประชาชาติ และกล้าธรรม
การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัด ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 จะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า “ระบอบบ้านใหญ่” ยังแข็งแกร่ง
จากการประเมินแนวรบนายก อบจ.ในทุกภาค พบว่า บ้านใหญ่ในสีเสื้อเพื่อไทย จะได้ 13 อบจ. และบ้านใหญ่เครือข่ายสีน้ำเงิน จะได้ 7 อบจ.
ที่เหลืออีก 27 อบจ.น่าจะกระจายไปยัง “บ้านใหญ่” เครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคกล้าธรรม
สำหรับพรรคประชาชน ที่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 17 จังหวัด มีแนวโน้มจะได้ 1-3 อบจ. และอาจไม่ได้รับเลือกแม้แต่จังหวัดเดียว
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดใจผ่านสื่อบางสำนักว่ามีความมั่นใจว่า พรรคประชาชนจะปักธง อบจ.สีส้มได้แน่นอน แต่ไม่ระบุว่า จะได้กี่จังหวัด
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ในวันเสาร์นี้ สะท้อนถึงระบอบอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังยืนยง หรืออิทธิฤทธิ์ของ “กระสุน” ยังเหนือกว่า “กระแส”
แดงรบน้ำเงิน
พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ.อย่างเป็นทางการ 14 จังหวัด และส่งในนามสมาชิกพรรค 2 จังหวัด รวม 16 จังหวัด ร้อยละ 90 อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
สมรภูมิรบอีสาน 11 จังหวัด เป็นการเผชิญหน้าระหว่างเพื่อไทย และภูมิใจไทย 7 จังหวัด
ประเมินภาพรวมอีสาน ผู้สมัครนายก อบจ.ค่ายสีแดง น่าจะได้รับชัยชนะ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นฤมล สัพโส ,นครพนม อนุชิต หงษาดี, นครราชสีมา ยลดา หวังศุภกิจโกศล, ศรีสะเกษ วิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ และมหาสารคาม พลพัฒน์ จรัสเสถียร
ส่วนพรรคภูมิใจไทย น่าจะได้ 3 จังหวัดคือ บึงกาฬ แว่นฟ้า ทองศรี, อำนาจเจริญ พนัส พันธุ์วรรณ และบุรีรัมย์ ภูษิต เล็กอุดากร
ส่วนสังเวียน อบจ.ภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย คงกวาดเกือบหมด 7 จังหวัด คงเหลือที่แม่ฮ่องสอน น่าจะเป็นของตระกูลวันไชยธนวงศ์
บ้านใหญ่หลายขั้วสี
นอกเหนือจากผู้สมัครนายก อบจ. ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และเครือข่ายสีน้ำเงิน ปรากฏว่า บรรดาอดีตนายก อบจ.หรือ “บ้านใหญ่” อีก 27 จังหวัด ที่มีแนวโน้มว่า จะได้รับเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ต่างมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสิ้น
บ้านใหญ่ที่ใกล้ชิดพรรคเพื่อไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ฉะเชิงเทรา กลยุทธ ฉายแสง,ชลบุรี วิทยา คุณปลื้ม, ระยอง ปิยะ ปิตุเตชะ,จันทบุรี ธนภณ กิจกาญจน์ ,ตราด วิเชียร ทรัพย์เจริญ ,สมุทรสาคร อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ,สระบุรี สัญญา บุญ-หลง ,นครนายก นิดา ขนายงาม และนนทบุรี พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ
บ้านใหญ่ข้างต้นส่วนใหญ่ ยึดคำขวัญที่ว่า “ไม่มีพรรค มีแต่พวก” จึงคบหาทั้งพรรคสีแดง และพรรคสีน้ำเงิน
บ้านใหญ่สายพรรคพลังประชารัฐคือ สมุทรปราการ สุนทร ปานแสงทอง ,มุกดาหาร วีระพงษ์ ทองผา และหนองคาย ยุทธนา ศรีตะบุตร
บ้านใหญ่สายพรรครวมไทยสร้างชาติคือ สุราษฏร์ธานี โสภา กาญจนะ และพัทลุง วิสุทธิ์ ธรรมเพชร
บ้านใหญ่สายพรรคประชาธิปัตย์คือ ประจวบคีรีขันธ์ สราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์,ตรัง บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ และสงขลา สุพิศ พิทักษ์ธรรม
บ้านใหญ่สายพรรคชาติไทยพัฒนาคือ นครปฐม จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ และสุพรรณบุรี อุดม โปร่งฟ้า
บ้านใหญ่พรรคประชาชาติคือ ยะลา มุขตาร์ มะทา, นราธิวาส กูเซ็ง ยาวอหะซัน และปัตตานี เศรษฐ์ อัลยุฟรี
บ้านใหญ่พรรคกล้าธรรมคือ เจษฎา ญาณประภาศิริ อดีตประธานสภา อบจ.สมุทรสาคร และหนองบัวลำภู ศรัณยา สุวรรณพรหม
ที่เหลือเป็นบ้านใหญ่ที่ไม่มีพรรคชัดเจนคือ พังงา บำรุง ปิยนามวาณิช ,ภูเก็ต เรวัต อารีรอบ และแม่ฮ่องสอน อัครเดช วันไชยธนวงศ์
สรุปบ้านใหญ่หลายขั้วสี 27 จังหวัด ผนึกรวมกับบ้านใหญ่สีแดง 13 จังหวัด และบ้านใหญ่สีน้ำเงิน 7 จังหวัด รวมเป็น 47 จังหวัด อันสะท้อนว่า อบจ.ทั้งประเทศ จะตกอยู่ในระบอบบ้านใหญ่ต่อไปอีก 4 ปี