
มองข้ามช็อต "ทักษิณ" ไม่สด "แพทองธาร" ส่อลดเป้า 200 บ้านใหญ่เมิน
ไม่สิ้นลายแต่ไม่สด "ทักษิณ-แพทองธาร" ส่อหดเป้า "200" ได้กลิ่น "บ้านใหญ่" เมินพรรคนายใหญ่
การเมืองอมฝุ่น ทักษิณ-แพทองธาร รับผลสะเทือนสนาม อบจ. ไม่สิ้นกระแสแต่ไม่ขลัง ตั้งเป้า 200 ของจริงก็หืดจับ
อ่านเกมข้ามช็อต จากท้องถิ่นทะลุสนามใหญ่ เริ่มนับหัว สส.กันแล้ว จึงมีอาการขบเหลี่ยม ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล
ผ่านการเลือกตั้งนายก อบจ.รอบ 47 จังหวัดมาได้เกือบ 2 สัปดาห์ แต่ผลสะเทือนจากสนามท้องถิ่น ยังมีเอฟเฟกต์ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล
สังเกตได้จากกระบวนการปล่อยข่าวปรับ ครม. ที่พุ่งเป้าไปยังพรรคเบอร์ 3 พรรคเบอร์ 4
ร้อนถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และทักษิณ ชินวัตร ต้องประสานเสียง “ยังไม่ปรับ ครม.”
เมื่อทักษิณไปงานส่วนตัว ก็เจอคำถามเรื่องผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทำให้เจ้าตัวต้องตอบคำถามแบบระมัดระวัง “ผมไม่มีมนต์ขลังอะไร คนส่วนใหญ่เกิน 40 ปีถึงจะจำผมได้”
อย่างไรก็ตาม ทักษิณประเมินผลการเลือกตั้ง สส.ครั้งหน้าว่า “มองว่า แย่ๆ คงมี 200 ขึ้น” แถมถ่อมตัว “ไม่อยากเป็นพรรคเดียวแล้วแหละ เพราะนกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ไม่ดี ต้องมีเพื่อน แต่เยอะมากก็ไม่ดี ปวดหัว”
สังเวียนเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด กลายเป็นสนามทดสอบพลังของทักษิณ เนื่องจากนายใหญ่เดินสายช่วยผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยขึ้นปราศรัยรวม 24 เวที ในรอบ 1 เดือน
พรรคเพื่อไทย เก็บชัยชนะในสนามการเลือกตั้งนายก อบจ.ได้ 10 จังหวัด จากที่ส่งผู้สมัครทั้งหมด 16 จังหวัด
จากผลการเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้น นักวิชาการบางคนถึงกับฟันธงว่า “ทักษิณสิ้นลาย” และว่ากันตามจริง “ทักษิณยังไม่สิ้นกระแส แต่ไม่ขลัง ไม่สด” เหมือน 20 กว่าปีที่แล้ว
อีสานเปลี่ยนไป
ดังที่ทราบกัน พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ.เฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่เป้าหมายในการเลือกตั้ง สส.สมัยหน้า
การเลือกตั้งปี 2566 ภาคอีสาน มีจำนวน สส.เขตมากที่สุด 133 เขต โดยเพื่อไทย ได้ สส. 73 ที่นั่ง ถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี เพราะพรรคการเมืองยี่ห้อนายใหญ่ ไม่ว่าจะชื่ออะไร ต้องได้ สส.อีสาน เกิน 100 ที่นั่ง
ที่มาแรงคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ได้ สส. 35 ที่นั่ง ซึ่งก่อนหน้านั้น พรรคสีน้ำเงิน ได้ สส.อีสาน ไม่เกิน 15 คน
ยังมีอีก 6 พรรคที่มาแชร์ที่นั่ง สส.อีสานคือ พลังประชารัฐ 7 ที่นั่ง ก้าวไกล 7 ที่นั่ง ไทยสร้างไทย 5 ที่นั่ง ไทรวมพลัง 2 ที่นั่งประชาธิปัตย์ 2 ที่นั่ง และชาติไทยพัฒนา 1 ที่นั่ง
ผลเลือกตั้งนายก อบจ.อีสานหนนี้ ผู้สมัครนายก อบจ.ระดับเสาเข็ม ค่ายสีน้ำเงิน ยืนต้านกระแสพ่อใหญ่ทักษิณ และสู้กระแสเพื่อไทยได้สบายๆ
หาก “นายใหญ่” ยังแก้ปัญหา “สส.เสาไฟฟ้า” ไม่ได้ โอกาสที่ค่ายสีแดงจะได้ สส.อีสานในระดับเท่าเดิม ประมาณ 70 ที่นั่ง
กลาง-ตะวันออก
เลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 สมรภูมิภาคกลาง และภาคตะวันออกยังเป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย ได้ สส.ไม่เป็นกอบเป็นกำ
สาเหตุหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของ “พรรคสีส้ม” ที่แย่งชิง สส.จากค่ายสีแดง ในโซนปริมณฑล และภาคตะวันออก ดังนั้น การเลือกตั้งนายก อบจ.รอบ 47 จังหวัด ค่ายสีแดงจึงไม่ส่งผู้สมัครในพื้นที่ดังกล่าว
ขณะเดียวกัน “บ้านใหญ่” ที่ไม่ยอมสวมเสื้อพรรค และยึดสโลแกนไม่มีพรรคมีแต่พวก ลงสนามเกือบ 20 จังหวัด
อย่างเช่น จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ ว่าที่นายก อบจ.นครปฐม ,กลยุทธ ฉายแสง ว่าที่นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา, อุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ว่าที่นายก อบจ.สมุทรสาคร และสัญญา บุญ-หลง ว่าที่นายก อบจ.สระบุรี
มินับกลุ่มนักการเมืองภาคตะวันออกอย่าง วิทยา คุณปลื้ม ว่าที่นายก อบจ. ชลบุรี ,ปิยะ ปิตุเตชะ ว่าที่นายก อบจ.ระยอง,ธนภณ กิจกาญจน์ ว่าที่นายก อบจ.จันทบุรี และวิเชียร ทรัพย์เจริญ ว่าที่นายก อบจ.ตราด
มีกระแสข่าวว่า ทีม อบจ.บ้านใหญ่แดนบูรพา อาจสนับสนุน “พรรคพลังบูรพา” ในการเลือกตั้ง สส.สมัยหน้า
เมื่อ “บ้านใหญ่” เมินพรรคนายใหญ่ ก็ยากที่เห็นตัวเลข 200 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งสมัยหน้า