
ศึกในเขมร "สมรังสี" ทวงเกาะกูด ขุนศึก "ฮุนเซน" ปั่นชาตินิยมตาเมือนธม
การเมืองชาตินิยมเขมร "สมรังสี" ไล่บี้ "ฮุนเซน" สุมไฟทวงคืนเกาะกูด ขุนศึกตระกูล "ฮุน" บุกปราสาทตาเมือนธม
ศึกชาตินิยมเขมร สมรังสี ไล่ขยี้ ฮุนเซน สุมไฟทวงคืนเกาะกูด เครือข่ายตระกูลฮุน โผล่ร้องเพลงชาติที่ปราสาทตาเมือนธม
ย้อนรอย 40 ปี ฮุนเซน ผู้ถนัดการเมืองชาตินิยม เอาชนะเลือกตั้งทุกครั้ง หนนี้ สมรังสีเอาบ้าง จุดไฟชาตินิยม
นับแต่ปลายปีที่แล้ว การเมืองภายในกัมพูชา ระอุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง ว่าด้วยสงครามการเมืองชาติ ระหว่าง สม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้านพลัดถิ่น กับสมเด็จฮุน เซน ผู้นำจิตวิญญาณพรรคประชาชนกัมพูชา
อ่านเกมการเมืองเขมรในวันนี้ ก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ “ตาเมือนธม” ที่มีนายทหารเขมร พากลุ่มแม่บ้านมาร้องเพลงชาติกัมพูชา ที่บริเวณลานทิศใต้ของปราสาทตาเมือนธม พื้นที่ ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ในเขตแดนประเทศไทย
นัยว่า นายทหารที่พาแม่บ้านชาวเขมรขึ้นมาบนปราสาทวันนั้น คือ พล.จ.นัก วงศ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 42 รับผิดชอบ 3 จังหวัดคือ อุดรมีชัย ,พระวิหาร และเสียมราฐ
กองทัพภาคที่ 2 ได้ทำหนังสือประท้วงการกระทำที่ไม่เหมาะสมไปยังผู้บัญชาการภูมิภาคทหาร ที่ 4 ประเทศกัมพูชา โดยก่อนหน้านั้น กองทัพภาคที่ 2 ก็เคยทำหนังสือประท้วงไปแล้วฉบับหนึ่ง
เนื่องจากได้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว 2 ครั้งคือ ครั้งแรกวันที่ 18 ต.ค. 2567 และครั้งที่ 2 วันที่ 13 ก.พ. 2568
มีข้อน่าสังเกตว่า พล.จ.นัก วงศ์ ผบ.กองพลทหารราบที่ 42 ได้เดินทางตรวจเยี่ยมทหารกัมพูชา ที่ประจำการอยู่บนปราสาทตาเมือนธม ฝั่งเขตแดนกัมพูชา เมื่อ 1 ต.ค. 2567 และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ตาเมือนธมเป็นของกัมพูชา 16 ต.ค. 2567
ฉะนั้น การเคลื่อนไหวของนายทหารกัมพูชาคนนี้ มีนัยยะทางการเมืองอย่างแน่นอน
สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีตาเมือนธมว่า “...เรากับประเทศเพื่อนบ้าน ยังติดกับดักเรื่องเขตแดนและแผนที่ และมักใช้เรื่องนี้มาหาประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าไทยหรือเขมร เราต้องไม่ลืมว่า เขตแดนและแผนที่เป็นสิ่งสมมติ และไม่มีชีวิต”
อาจารย์สมฤทธิ์ ให้ข้อคิดคนไทยว่า อย่าไปหลงเล่นเกมชาตินิยม อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และสงครามกับเพื่อนบ้านเหมือนในอดีต
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของนายทหารเครือข่ายตระกูล “ฮุน” ในครั้งนี้ น่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่การเมืองภายในกัมพูชามากกว่า
ฝ่ายค้านสุมไฟเกาะกูด
ปีที่แล้ว มีความเคลื่อนไหวของคนไทยบางกลุ่ม จุดประเด็นไทยจะเสียดินแดนเกาะกูด จ.ตราด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 ที่ไทยลงนามร่วมกับกัมพูชาไว้เมื่อปี 2544
สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นปรปักษ์กับสมเด็จฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชา(CPP) ได้จับเอาประเด็น “เกาะกูด” มาเคลื่อนไหวทันที โดยเรียกร้องให้รัฐบาลฮุน มาเน็ต อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด
ปลายเดือน พ.ย. 2567 กลุ่มเยาวชนของพรรค CNRP ได้เริ่มการชุมนุมประท้วงทวงคืนเกาะกูดที่เกาหลีใต้
19 ม.ค. 2568 ชาวกัมพูชาที่เป็นสมาชิกพรรค CNRP ซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ชุมนุมประท้วงเพื่อปกป้องเกาะกูด ที่แคลิฟอร์เนีย ให้รัฐบาลกัมพูชาประกาศว่า เกาะกูดเป็นของกัมพูชา หรือไม่ก็นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา แรงงานชาวกัมพูชาในญี่ปุ่น รวมตัวประท้วงกัน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในเรื่องเกาะกูด
แรงงานเขมรเหล่านี้ก็คือ สมาชิกพรรค CNRP และจัดการชุมนุมประท้วงตามคำเรียกร้องของ สม รังสี
เกมอำนาจชาตินิยม
จะว่าไปแล้ว นักการเมืองกัมพูชา ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน มักเล่นการเมือง “ชาตินิยมเขมร” อยู่เสมอ
สมัยที่ไทย-กัมพูชา เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร วิลเลียม เคสผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.ฮ่องกง ชี้ว่า “ฮุน เซน จงใจปลุกกระแสชาตินิยม และเรียกคะแนนนิยมให้กับตนเอง”
กลยุทธ์หนึ่งในการรักษาอำนาจของสมเด็จฮุน เซน ก็คือ การสร้างความหวาดกลัวและปลุกกระแสชาตินิยมให้กับประชาชน ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในทุกการเลือกตั้ง หรือกรณีเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง
กลยุทธ์ส่งแม่บ้านขึ้นมาร้องเพลงชาติบนปราสาทตาเมือนธม ก็เป็นตีโต้ฝ่ายค้าน(นอกประเทศ)ที่กำลังปั่นกระแสทวงคืนเกาะกูด