คอลัมนิสต์

ลบภาพอดีต "ทักษิณ" ดับไฟใต้เขย่า "66/23" บทเรียนวันนอร์ทั้งรุ่งทั้งร่วง

ลบภาพอดีต "ทักษิณ" ดับไฟใต้เขย่า "66/23" บทเรียนวันนอร์ทั้งรุ่งทั้งร่วง

20 ก.พ. 2568

ประชาชาติทัวร์ "ทักษิณ" เหยียบชายแดนใต้ ปัดฝุ่น "66/23" ศึกษา "วันนอร์-วาดะห์" พังเพราะการทหารนำการเมือง

ครั้งแรกในรอบ 17 ปี ทักษิณ เหยียบชายแดนใต้ ชงปัดฝุ่นคำสั่ง 66/2523 สูตรใหม่ ดับไฟปลายด้ามขวาน

ส่องบทเรียน วันนอร์-วาดะห์ ใต้ร่มธงฮารับปันบารู หรือ 66/23 ฉบับชายแดนใต้ จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคตกต่ำ

สุดสัปดาห์นี้ ทักษิณ ชินวัตร มีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ.2568 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่นายใหญ่ จะได้เดินทางไปเยือน 3 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

คิวล่องใต้เที่ยวนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมทีมงานพรรคประชาชาติ จะเป็นเจ้าภาพ

ก่อนหน้านี้ ทักษิณได้พบปะกับอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียหลายครั้ง เนื่องจากมาเลเซียมีสถานะเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ” ของรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไฟใต้ยุคใหม่ ที่สุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และเปราะบาง เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณคือ เหตุการณ์ 4 ม.ค. 2547 ปล้นปืนครั้งใหญ่ ปฐมบทไฟใต้รอบใหม่ และยืดเยื้อมา 21 ปี

“ผมคิดว่า ถ้ามีการพูดคุยกัน ใช้การเมืองนำการทหาร เหตุการณ์จะสงบ แล้วจะหาแนวทางพัฒนาร่วมกันไปได้”

ความเห็นตอนหนึ่งของ Tony Woodsome หรือ ทักษิณ ชินวัตร ในวงเสวนาหัวข้อ Scenario Patani หรือ ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้จัดโดย the Motive ร่วมกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม เมื่อเดือน มิ.ย. 2565

คำว่า “การเมืองนำการทหาร” ทำให้นึกถึงนโยบาย 66/2523 สมัยรัฐบาลเปรม ซึ่ง ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พูดถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภาคใต้ฉบับใหม่

ในยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ฉบับใหม่ มีหลายประเด็น โดยเฉพาะการนำผู้เห็นต่างกับเข้าสู่สังคม คล้ายกับนโยบาย 66/23 ยืนยันไม่ใช่การ “นิรโทษกรรม” แต่จะใช้ “การเมืองนำการทหาร”

ทักษิณ และคณะ จะไปเยือนนราธิวาส เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

ทักษิณและชายแดนใต้

 

ในวงเสวนาเรื่องอนาคตปาตานี “ทักษิณ” ได้พูดถึงการพัฒนาชายแดนใต้ จะพิจารณาอย่างแยกขาดจากพื้นที่ที่ห้อมล้อมและประเทศไทยในภาพใหญ่มิได้ ทิศทางการพัฒนาจะต้องประสานสนับสนุนกัน

รูปธรรมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงคือ พรรคประชาชาติ ซึ่งใกล้ชิดคนในพื้นที่ จะสามารถนำข้อเสนอของทักษิณ ไปหารือกรอบการทำงานร่วมกันกับรัฐบาล(เวลานั้น ทักษิณ ยังเชื่อว่าเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล)

“พรรคประชาชาติจะเป็นพรรคที่มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาให้กับปาตานีร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคต” ทักษิณ กล่าวไว้เมื่อปี 2565

อย่างไรก็ตาม การเกิดใหม่ของกลุ่มวาดะห์ในเสื้อคลุมตัวใหม่ชื่อ “ประชาชาติ” และความสำเร็จของพรรคประชาชาติ ตอกย้ำว่า แบรนด์เพื่อไทย เป็นแบรนด์ต้องห้าม สำหรับคนชายแดนใต้

บทเรียนวันนอร์และวาดะห์

 

บนเส้นทางการเมืองของ “วันนอร์” มีส่วนผลักดันให้เกิดนโยบายฮารับปันบารู เพื่อสันติสุขชายแดนใต้ หรือช่วงไฟใต้ดับ(ปี 2532-2544)

ปี 2529 เด่น โต๊ะมีนา วันมูหะมัดนอร์ มะทา และอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ก่อตั้งกลุ่มเอกภาพหรือกลุ่มวาดะห์ เพื่อพัฒนาชายแดนใต้

ปี 2533 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งพรรคความหวังใหม่ ดึงกลุ่มวาดะห์ ให้เข้ามาร่วมขายนโยบายฮารับปันบารู จนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 สนาม 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มวาดะห์ ได้ สส. 7 ที่นั่ง

วันนอร์ และอดีตสมาชิกกลุ่มวาดะห์ เคารพนับถือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดโครงการฮารับปันบารู (ภาษายาวี แปลว่าความหวังใหม่) สมัยที่ พล.อ.ชวลิต เป็น ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. 

ฮารับปันบารูของบิ๊กจิ๋ว ก็คือ 66/2523 ฉบับชายแดนใต้ โดย กอ.รมน.ภาค 4 ได้ใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ดึงสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น(ยุคเก่า) เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย และปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา

พลันที่เสียงปืนแตกอีกครั้งในต้นปี 2547 ชายแดนใต้ลุกเป็นไฟ ด้วยการทหารนำการเมือง ของรัฐบาลไทยรักไทย

อดีต สส.กลุ่มวาดะห์ ในสีเสื้อไทยรักไทย ถูกคนชายแดนใต้สั่งสอนในคูหาเลือกตั้ง สอบตกยกแผง และแบรนด์วาดะห์ ก็ถึงกาลอวสานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา