คอลัมนิสต์

ฟื้นแบรนด์ "ทักษิณ" ดับไฟใต้ อุ้ม "วันนอร์" รุ่งหรือร่วง เดิมพันประชาชาติ

ฟื้นแบรนด์ "ทักษิณ" ดับไฟใต้ อุ้ม "วันนอร์" รุ่งหรือร่วง เดิมพันประชาชาติ

23 ก.พ. 2568

ดับไฟใต้ เดิมพันฟื้นแบรนด์ "ทักษิณ" อุ้ม "วันนอร์" บ้านใหญ่ศรียะลา สมัยหน้า ประชาชาติรุ่งหรือร่วง

ฟื้นแบรนด์ ทักษิณ เยือนชายแดนใต้ โชว์อุ้ม วันนอร์ นอมินีเพื่อไทย ฝ่าสมรภูมิการเมือง 3 จังหวัดสมัยหน้า

แบรนด์สีแดงจมหายไป 20 ปี วันนอร์-ทวี ปั้นแบรนด์ใหม่ ยึดที่มั่น 3 จังหวัด ใบเบิกทางทักษิณลุยชายแดนใต้

ภาพ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประมุขบ้านศรียะลา ยกมือไหว้ ทักษิณ ชินวัตร ที่สนามบินนราธิวาส กลายเป็นภาพที่มีผู้คนพูดถึงมากที่สุด มีการถอดรหัส “ภาษากาย” ของประธานรัฐสภา ที่กำลังเจอมรสุมการเมืองอยู่ในเวลานี้

ย้อนไปเมื่อต้นปี 2548 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น มีแผนจะเดินทางลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 15-16 ก.พ. แต่สุดท้ายก็ยกเลิกแผนการดังกล่าว

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทักษิณก็ไม่ได้เดินทางไปชายแดนใต้ เนื่องจากเขาต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างแดน

กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นผู้เชิญทักษิณ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ลงไปพบปะพี่น้องนราธิวาส, ปัตตานี และยะลา
 

วันนอร์ และทีมงานพรรคประชาชาติ ต้อนรับทักษิณ ที่นราธิวาส

ลั่นคำขอโทษ-ขออภัย


รายการทักษิณล่องใต้ทริปนี้ วันเดียวครบจบใน 3 จังหวัด ต้องยกให้ ทวี สอดส่อง และผู้เฒ่า “วันนอร์” ที่วางโปรแกรมปูทางสร้าง “แบรนด์ทักษิณ” ให้กลับมาอยู่ในใจคนชายแดนใต้อีกครั้ง

เริ่มจากไปพบปะพี่น้องชาวไทยพุทธที่ อ.สุไหงปาดี ก่อนจะไปแสดงความขอโทษ-ขออภัย ต่อชาวมุสลิม ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ,อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา

ทุกจุดที่ทักษิณไปพบมวลชนนั้น เป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ และมีหัวคะแนนของ “ทวี-วันนอร์” เป็นผู้เตรียมการต้อนรับร่วมกับภาคส่วนราชการทุกฝ่าย

อย่างเช่น “กำนันเพื่อน” ธนาธิป พรหมชื่น อดีตกำนัน ต.สุไหงปาดี และนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง

รวมไปถึง กูเซ็ง ยาวอหะซัน ว่าที่นายก อบจ.นราธิวาส และแกนนำพรรคประชาชาติ ที่มาต้อนรับทักษิณที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

จริงๆ แล้ว ประเด็นทักษิณ ขอโทษ-ขออภัย ต่อความผิดพลาดในการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อปี 2547 ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง

ปี 2554 รายการตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยกกองไปสัมภาษณ์ทักษิณ ที่ดูไบ ตอนหนึ่งทักษิณได้พูดถึงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ

“...อันนี้ต้องขออภัย แต่ไม่ได้ทำเพราะความไม่ชอบ นั่นไม่ใช่ แต่ว่าด้วยนิสัยตำรวจ จะบังคับใช้กฎหมาย รุนแรงมาก็รุนแรงไป ซึ่งอันนี้ผิด”

ปลายปี 2565 ทักษิณพูดผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ ในนามโทนี่ วู้ดซั่ม เกี่ยวกับกรณีตากใบว่า “ผมต้องขอโทษ ขออภัย แก่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ได้รับความเสียหายในครั้งนั้นด้วย”

ผู้จัดทริปทักษิณดับไฟใต้ คงประเมินว่า คำขอโทษ ขออภัยที่พูดต่อหน้าชาวมุสลิมโดยตรง น่าจะลดโทนความเกลียด “ทักษิณ-เพื่อไทย” ในอดีต และเปิดทางให้มีการฟื้นแบรนด์นายใหญ่อีกครั้ง

ประชาชาติ : นอมินีนายใหญ่

 

การเลือกตั้งทั่วไป 6 ก.พ.2548 พรรคไทยรักไทย กวาด สส.ได้ 377 ที่นั่ง แต่สนามชายแดนใต้ 3 จังหวัด นักการเมืองกลุ่มวาดะห์ แห่งไทยรักไทย สอบตกกราวรูด

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นบ่งบอกว่า พื้นที่นี้ไม่เอาไทยรักไทย พื้นที่นี้ไม่ต้องการทักษิณ และพื้นที่นี้ปฏิเสธกลุ่มวาดะห์ ในร่มเงาพรรคของทักษิณ

ไฮไลต์การเมืองของทักษิณดับไฟใต้ น่าจะอยู่ที่การเดินทางไปบ้านศรียะลา ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ และอดีตแม่ทัพเพื่อไทย

อย่าลืมว่า ไฟใต้ที่คุโชนจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 ตามมาด้วยวาทกรรม “โจรกระจอก” ของทักษิณ สร้างความเจ็บปวดให้ “วันนอร์” และกลุ่มวาดะห์ อยู่นานนับสิบปี

กว่าวันนอร์จะเงยหน้ากลับมายืนผงาด บนถนนการเมืองชายแดนใต้เยี่ยงผู้ชนะ ก็ต้องรอจนถึงปี 2562 ในแบรนด์ “พรรคประชาชาติ”